กรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้ทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ทั้งโดยตั้งใจก็ดี ไม่ได้ตั้งใจก็ดี ในภพชาติใดก็ตาม ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงโปรดยกโทษให้เป็นอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า อย่าได้จองเวรจองกรรมต่อกันอีกเลย
แม้แต่กรรมใดที่ใครๆ ทำแก่ข้าพเจ้าก็ตาม ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้ทั้งสิ้น ยกถวายพระพุทธเจ้าเป็นอภัยทาน ขอจงดลใจให้เขาเหล่านั้นกลับมีเมตตาจิต คิดเป็นมิตรกับข้าพเจ้า เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมต่อกันตลอดไป
ด้วยอานิสงส์แห่งอภัยทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้ง ครอบครัว ตลอดจนวงศาคณาญาติ ผู้มีอุปการคุณของข้าพเจ้า พ้นจากความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจความทุกข์อย่าได้ใกล้ ความเจ็บไข้อย่าได้มี ขอได้มีความสุขสวัสดีมีชัย เสนียดจัญไรและอุปัทวันตรายทั้งหลาย จงเสื่อมสิ้นหายไป นึกคิดปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรมแล้ว ขอให้สิ่งนั้นจงพลันสำเร็จ ลงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จเทอญ
บทอธิษฐานขออโหสิกรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
"การกรวดน้ำอุทิศบุญให้กับผู้ล่วงลับ"
ถาม : คำว่า กรวดน้ำให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว จำเป็นไหมเจ้าคะ ที่จะต้องใช้น้ำตลอดไหมคะ
พระอาจารย์ : ไม่หรอก การกรวดน้ำก็คือกรวดน้ำใจ น้ำใจของเรา ก็คือบุญกุศลที่เราทำในวันนี้ มันเป็นเหมือนน้ำใจ เหมือนอาหารทิพย์อย่างนี้ดีกว่า ที่เราสามารถที่จะส่งไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่กำลังอยู่ในโลกทิพย์ขณะนี้ได้ การจะส่งบุญไปสู่โลกทิพย์ก็ผ่านไปด้วยการระลึกถึงบุคคลนั้น เช่น เราระลึกภายในใจว่า “ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้กระทำในวันนี้ให้แก่บุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้าท่านกำลังรอรับผลบุญส่วนนี้อยู่ ก็ขอให้มารับไปได้” ไม่ต้องใช้น้ำ เพียงแต่ว่า ที่เขาใช้น้ำ ก็เพื่อเป็นการเหมือนกับเป็นการวาดภาพให้เห็นภาพของบุญที่เราอุทิศไปว่า เป็นเหมือนกับกระแสน้ำที่เราเทลงไปในภาชนะนี้เท่านั้นเอง ว่าบุญนี้เป็นเหมือนน้ำอันสะอาด ที่จะทำให้ผู้รับบุญได้ดื่มน้ำสะอาด ทำให้มีชีวิตมีชีวา มีความสุข
บุญนี้เป็นอาหารทิพย์ ผู้ที่มารอรับผลบุญก็คือพวกที่ไม่มีบุญ เวลาอยู่ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาได้ทำบุญ เวลาตายไปเลยไม่มีอาหารติดตัวไป ก็เลยต้องมารับอาหารทิพย์ของผู้อื่น ของพวกที่ทำบุญอย่างวันนี้ พอเราทำบุญแล้ว เราก็อุทิศไป ถ้าเราไม่อุทิศเขาก็รับไม่ได้ เพราะว่าเหมือนกับเราเขียนเช็คแล้วเราไม่เขียนชื่อของเขาอย่างนี้ เขาก็จะเอาไปรับไม่ได้ ถ้าเราเขียนชื่อของคนอื่นหรือเราไม่เขียนเช็คนี้ บุญที่เราทำวันนี้เขาก็จะมารับไปไม่ได้
ถ้าอยากจะให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่กำลังรอรับผลบุญของเราอยู่ เราควรจะอุทิศ เราควรจะทำทันทีหลังจากที่เราได้ทำบุญเสร็จแล้ว เพราะเวลานั้นบุญกำลังอยู่เต็มในหัวใจของเรา คือ ความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ความสุขใจที่เราได้รับจากการทำบุญนี้ อันนี้แหละ เป็นสิ่งที่เราจะอุทิศไปให้ คืออาหารทิพย์ที่ทำให้เรามีความสุขใจอิ่มใจ ถ้าเราลืมแล้วเรามาอุทิศตอนหลายชั่วโมงไปแล้ว เราอาจจะไปเจอเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำให้เราเกิดความโกรธแค้นโกรธเคือง อาฆาตพยาบาทขึ้นมา พอเวลาที่จะอุทิศบุญ คือความรู้สึกอิ่มเอิบใจนั้น มันไม่มีเสียแล้ว มันมีแต่ความเครียดแค้นโกรธเกลียดอยู่ภายในใจ
เขาถึงสอนว่าพอใส่บาตรเสร็จแล้วก็ให้กรวดน้ำไปเลยให้อุทิศบุญไปเลย อุทิศบุญก็ไม่ต้องมีพระมาสวดยะถา สัพพี แล้วก็ไม่ต้องมีน้ำ เพราะเรื่องอุทิศบุญนี้ เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของพระ เวลาพระสวดยะถา สัพพี นี้ความจริง เป็นการแสดงธรรม แสดงเหตุผลว่า บุญที่เราทำนี้ เป็นบุญที่สามารถแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ ถ้าเราอยากจะให้เขาได้รับ เราก็อุทิศส่วนนี้ไป นี่เรียกว่าว่า ยะถา เวลาพระว่า ยะถานี้ ท่านกำลังบอกว่า บุญที่พวกท่านทั้งหลายทำกันในวันนี้ เป็นบุญที่ท่านสามารถแบ่งปันให้กับผู้ที่ล่วงลับ ไปแล้วได้ ผู้ที่ไปอยู่ในโลกทิพย์แล้วได้ ขอให้ท่าน เพียงระลึกถึงบุคคลนั้น แล้วก็ระลึกไปในใจว่า ขอให้ท่านมารับส่วนบุญนี้ไปเถิด บุคคลที่เขารอรับอยู่เขาก็จะได้รับผลบุญนี้ อันนี้ เขาเรียกว่า ยะถา
ส่วนสัพพี ที่พระสวดกันก็คือ เป็นการให้พร แสดงอนุโมทนาว่า การทำบุญนี้เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ด้วยอายุวรรณะ สุขะ พละ เขาถึงมีคำพูดว่า ยะถาให้ผี สัพพีให้คน
เวลาพระเป็นองค์ประธานผู้นำกล่าวยะถานี้ เป็นการพูดสอนวิธีอุทิศบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พอท่านกล่าวเสร็จแล้ว พระทั้งหมดรับสัพพีนี้แสดงว่า เริ่มสวดให้พรแล้ว ดังนั้นเวลาที่จะกรวดน้ำท่านจะกรวดตามธรรมเนียม ตามที่พระให้ ต้องกรวดตอนที่พระเริ่มกล่าวคำว่า ยะถา พอพระกล่าวเสร็จแล้ว พอพระมาสวดสัพพีเราก็หยุด ตอนนั้นเราก็วางภาชนะที่เราใช้ในการกรวดน้ำ แล้วเราก็พนมมือรับพรต่อไป บางคนไม่รู้ก็กรวดไปจนกระทั่งพระสวดไปจนจบ
ความจริงมันมี ๒ ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ยะถา ส่วนที่ ๒ เรียกว่า สัพพี ยะถาก็คือเป็นเวลาที่เรากรวดน้ำให้แก่ผู้ตาย พอพระเริ่มสัพพี ทีโย วิวัชชันตุ เป็นเวลาที่พระท่านให้พรคนที่ทำบุญ ญาติโยมก็ควรจะหยุดกรวดน้ำได้แล้ว
ถาม : จำเป็นไหมเจ้าคะ ที่ต้องเอ่ยชื่อคนนั้นคนนี้ ใช้คำว่าญาติพี่น้อง รวมๆได้ไหมคะ
พระอาจารย์ : ก็ได้
ถาม : บางคนชื่อยาวเหยียด
พระอาจารย์ : ก็ไม่เป็นไรไปทำเวลาอื่นก็ได้ ไม่ต้องทำเวลาสวดยะถาก็ได้ ทำตอนอื่นก็ได้ ทำก่อนที่พระสวดยะถาก็ได้ เช่น เราถวายของเสร็จแล้ว พระยังไม่ได้ยะถา เราก็อุทิศไปได้เลย นั่งอุทิศไปภายในใจ ไม่ต้องมาทำพร้อมๆ กับตอนที่พระสวด ไม่เกี่ยวกัน แต่มันเป็นธรรมเนียมสอนให้ทำกันมา มันก็เลยเชื่อกันมาอย่างนั้น ต้องมีน้ำด้วย ถ้าไม่มีน้ำ ก็กรวดไม่ได้ ถ้าพระไม่ยะถาก็กรวดไม่ได้ ความจริงไม่ต้องมีพระยะถาก็ได้ ไม่ต้องมีน้ำ พอเราใส่บาตรเสร็จแล้ว เราก็ลุยเลย จะมีกี่คน
ถาม : เพราะเวลามีจำกัด
พระอาจารย์ : ก็ถึงไม่ต้องไปทำตอนนั้นไง
ถาม : เวลากรวดน้ำต้องเกาะหลัง
พระอาจารย์ : ก็ไม่จำเป็น ไม่ต้องเกาะกัน ไม่ต้องมีน้ำ มันไม่เกี่ยวกันเลย
ถาม : ความเชื่อไงคะ ว่าต้องเชื่อมโยง ใช้น้ำเป็นตัวนำบุญ
พระอาจารย์ : ก็นั่นแหล่ะ พอเชื่อแล้วก็ต้องทำตามนั้น พอไม่ทำก็รู้สึกว่ามันขาดอะไรไป .
ช่วงถาม - ตอบ ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๗
“จิตใจเป็นสิ่งที่มีค่า” พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
... ตอนนี้ก็เริ่มหลงกันแล้ว เดี๋ยวนี้จะเอาแต่บุญบังสังสวดกัน ไม่ค่อยจะเอาปฏิบัติกัน อะไรก็จะสวดกันอย่างเดียว . ...นี้สิ้นปี..ก็จะสวดกันอีกแล้วนี่ ทำไมไม่มานั่งภาวนากันนะ ไม่มาปฏิบัติธรรมกัน อะไร..สวดกันทำไม . ... มาถือศีลแปดมานั่งภาวนากันสิ ไม่เอา..มันลำบากไม่อยากถือศีลแปด ขอเวลาห้าทุ่มกว่า.. มานั่งสวดสัก 15 นาทีก็พอแล้ว ไปสวรรค์ได้ละ.. แหม..นี่มันเลอะเทอะกันแบบนี้ ทุกวันนี้ . ...แล้วต่อไปมันจะเลอะเทอะยิ่งกว่านี้ คือคนที่รู้..จะรู้น้อยลงไปเรื่อยๆ คนที่หลง..จะมีมากขึ้นมากขึ้น ................................................... .คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา 30/12/2559 พระจารสุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
" กระทบมันเดี๋ยวนี้ รู้มันเดี๋ยวนี้
กระทบมันเดี๋ยวนี้ ทิ้งมันเดี๋ยวนี้
กระทบมันเดี๋ยวนี้ วางมันเดี๋ยวนี้
เรื่องสงบของปัญญา เป็นอย่างนี้ "
หลวงพ่อชา สุภัทโท
มีคนมาพูดไม่ถูกใจ เราเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าคนพูดให้ถูกใจเรา เราก็เป็นสุข ตรงนี้แหละตรงที่จะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้สำคัญ ถ้าเราไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์ มัวไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์อยู่นั่น จะวิ่งตลอดจนถึงวันตายก็ไม่พบธรรมะ เมื่อรู้จักสุขทุกข์ทั้งสองนี้ขึ้นมาเมื่อไร เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรโดยธรรมะ นี่คือการปฏิบัติ
หลวงพ่อชา สุภัทโท
"คนเราไม่รู้จักคิดย้อนหน้าย้อนหลัง เห็นแต่หน้าเดียวไปเลยจึงไม่จบสักที ทุกอย่างมันต้องเห็นสองหน้า มีความสุขเกิดขึ้นมาก็อย่าลืมทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นมา ก็อย่าลืมสุข มันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน" หลวงปู่ชา สุภทฺโท
|