"ปีใหม่ปีเก่า เข้ามาถึงก็ให้พากัน สำนึกในคุณงามความดีของตนเอง เนี่ยเป็นจุดสำคัญ ปีโน้นปีนี้มันก็เหมือนเดิมนั้นแหละ มืดมาก็ว่างไป สว่างไปก็มืดมา มี ๑๒ เดือนเหมือนเดิม มี ๗ วันเหมือนเดิม อยู่อย่างนี้แหละไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่ความดี ความชั่วเราน่ะ ให้สำนึก ให้คิดน้อมหาตัวเรา ถ้ายังไม่ทำคุณงาม ความดี ก็รีบทำซะ เมื่อเค้าให้โอกาส ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เป็นโรคประจำตัว ก็รีบสร้างคุณงาม ความดี ถ้าเขาไม่ให้โอกาสแล้วทำไม่ได้ ก็เลยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย"
-หลวงพ่อสมบูรณ์ กนฺตสีโล-
ภาวนาให้มาก เร่งความเพียร
"...การภาวนาที่มีหลักมีฐาน ไม่ให้ละคำบริกรรม จะเอาพุทโธ หรืออัฏฐิ ก็ได้ เลือกเอาอันใดอันหนึ่ง ให้สังเกตจริตนิสัยตัวเอง ทำยังไงจิตถึงจะสงบ จิตสงบคือไม่มีอารมณ์มาแทรก ถ้าไม่อยู่อย่างนั้นนิวรณ์ห้าเอาไปกินหมดแหละ สงสัย ลังเล กังขาอยู่นั่นแหละ
หลวงปู่มั่นท่านไม่ให้ละล่ะ ให้เอาพุทโธเข้ากำกับจิตตัวเอง จิตสงบแล้วมันจะเกิดเองหรอก เหมือนกับชาวนาเขาไม่ได้ปราถนารวงข้าวหรอก เขารักษาแต่ลำต้นเท่านั้นล่ะ หมากรวงมันเกิดเอง ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาก็ให้เอา เกสา กรรมฐานห้า อุปปัชฌาย์สอนแล้ว ให้พิจารณาเข้า จิตมันอยู่ จิตมันสงบแล้ว ก็ให้พิจารณา เกสา โลมา จนถึงพื้นเท้า จากพื้นเท้าขึ้นมา
เรื่องอารมณ์อย่างอื่นอย่าไปคำนึงเลย เรื่องโลกเรื่องสงสาร ตัดออกหมด นักบวชต้องเป็นอย่างนั้น ให้พิจารณาอยูู่นั่น เจริญให้มาก ทำให้มาก มันจึงจะเกิด จิตสงบแล้วมันจะเกิดเองหรอกธรรมของพระพุทธเจ้า ลองดูสิยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่าให้เผลอ มันจะรู้แปลกๆขึ้น หรือเกิดแสงสว่างขึ้นในใจล่ะ ถ้าจิตไม่สงบแล้วไม่เห็นอะไรล่ะ ลูบคลำอยู่นั่นล่ะ
มันจะเกิดขึ้นเอง บางทีมันก็เกิดนิมิตขึ้นเอง มันเกิดขึ้นอย่างนั้น บางทีเห็นตัวเองตาย นอนขึ้นอืดอยู่ก็มี มันจะเป็นไปหรอก อันนั้นอาการของคน ให้พากันทำความพากเพียร อยู่เฉยๆ ได้ยินแต่ครูบาอาจารย์ท่านพูด ใจตัวเองยังไม่เห็น เรียนก็เรียนมาเถอะจะแก้กิเลสตัณหาขาดจากใจตัวเองไม่มีหรอก มีแต่เพิ่มนั่นแหละ
ทำให้มากเจริญให้มาก หลวงปู่มั่นท่านสอนอย่างนั้น ท่านไม่ได้ทำเล่นนะ พระพุทธเจ้ากว่าจะได้ตรัสรู้สลบไสลไปสามรอบแน่ะ มาทำเล่นๆไม่ได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติมา ท่านจึงได้ตรัสรู้ ท่านตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์
ยามที่หนึ่ง รู้บุพเพนิวาสานุสติ เกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน เป็นเป็นมนุษย์ เป็นพระราชา เป็นอะไรต่างๆท่านประมวลมาหมด
ยามที่สอง เรื่องทำกรรม ทำกรรมชั่วอะไรไปเกิดยังไง ถึงเอวจี ทำความดีไปถึงพรหมโลกไปสวรรค์ ภาพฉายออกมาเอง
ยามที่สาม ท่านก็ได้ตรัสรู้ ท่านก็ประกาศอันนั้นล่ะ ท่านนั่งอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์ ท่านมาประกาศศาสนาท่านก็รู้ความเป็นมาแบบนั้นล่ะ นรกอยู่ไหนเขียนไว้ในตำรามีเยอะแยะ
ให้พากันเร่งความพากเพียร ลองดูสิธรรมของพระพุทธเจ้า มีแต่ครูบาอาจารย์เทศน์ตัวเองไม่ทำเอง ไม่เกิดนะ เหมือนกันกับกินข้าว นั่งอยู่วงเดียวกัน ไม่กินก็ไม่รู้จักทั้งรสทั้งความอิ่ม พระพุทธเจ้ามีแต่บอกทางเท่านั้นแหละ เรื่องการกระทำเราทำเอง เหมือนกัน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จะมาหายใจแทนกันไม่ได้ล่ะ มีแต่มาถามอาการเท่านั้น อยู่ในโลกนี้มันทุกข์ยิ่งกว่าอะไร
สังขารนี้ก็ทุกข์บีบคั้นอยู่อย่างนั้น ถ้าสังเกต พิจารณาเข้าไปมันน่าเบื่อหน่าย มีแต่กองมูตร กองคูถอยู่ในตัวเรานะ ที่เป็นสิ่งสวยงามไม่มีหรอก หนังห่อกระดูก สาระแก่นสารมีอยู่เท่านั้น นอกนั้นมีแต่่อสุภะทั้งหมด ของปฏิกูล โสโครกทั้งนั้น ตัวกิเลสมันปิดบังมรรคผลนิพพาน แยกกิเลสออกจากธรรมดูซิ ให้มีแต่ธรรมล้วนๆ จะอัศจรรย์ขึ้นมากหรอก ท่านก็ฝึกความสงบนั่นแหละ มันต้องเห็นแน่ๆล่ะ ไป เลิกกัน..."
เทศนาธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่ลี กุสลธโร เทศน์อบรมพระ เมื่อวันที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๕๓
"...เราจะเห็นธรรมะของจริง จิตใจของเราก็ต้องมีความจริงด้วย การปฏิบัติของเราก็ต้องมีความจริงด้วย แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่เป็นของเราเลย พึ่งไม่ได้ แล้วเราจะไปหวังพึ่งทรัพย์พึ่งบุตรเอามาทำอะไร
อวิชชาที่จะดับ ก็ดับเพราะเรามารู้จริงอันนี้ เมื่อมันรู้จริงแล้ว ความไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร ที่เคยหลงเข้าใจผิดแต่ก่อนว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา พยายามตกแต่งให้มันสะอาด ให้มันน่าเพลิดเพลินยินดี
ถ้ามาดูจริงๆ แล้ว สิ่งที่เราเข้าใจมาแต่ก่อน ล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิด ไม่เป็นความจริงโดยธรรม แต่เป็นความจริงสำหรับปุถุชนผู้ยังหนา ถ้าเราฉลาด เราจะได้ความสงบในท่ามกลางที่วุ่นวายนี่แหละ..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
โลกะวิทู
"...คำว่า โลกวิทู รู้โลก ไม่จำเป็นต้องไปนับเม็ดหินเม็ดทรายในแผ่นดินมีเท่าไร ในท้องมหาสมุทรมีเท่าไร ในแผ่นดินมีต้นไม้ภูเขาเท่าไร มีทรัพย์สมบัติ สัตว์ บุคคลเท่าไร
คำว่า โลกวิทู รู้เพลงของโลก รู้กลมายาของใจตัวเอง ที่ไปสำคัญโลกว่าเป็นอะไร จึงไปยึดมั่นสำคัญผิดกลายเป็นพิษแก่ตัวเอง จนปรากฏเป็นกิเลสตัณหาอวิชชาขึ้นมา ให้เที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในสงสาร ทุกข์แล้วทุกข์เล่าไม่มีวันจบสิ้นสักที โลกวิทูรู้ตามเป็นจริงซึ่งสภาวธรรมทั้งหลาย แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพของเขาเท่านั้น
การพิจารณาไตรลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน ในส่วนแห่งกายทั้งหมดนี้ เราพิจารณาเพียงอาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น ก็สามารถจะทราบในอาการทั้งหลาย ซึ่งเป็นส่วนแห่งกายนั้นด้วย และมีไตรลักษณ์ประจำตนเช่นเดียวกัน เมื่อเห็นชัดด้วยปัญญาแล้ว จะทนถือมั่นสำคัญผิดอยู่อย่างไร ต้องปล่อยวางเป็นลำดับ ตามส่วนแห่งปัญญาที่เห็นชัดแล้ว
เหตุที่ถือมั่นสำคัญผิดนั้น ก็เพราะไม่เข้าใจชัด เหตุที่ยังไม่เข้าใจชัดก็เพราะกำลังของสติและกำลังของปัญญายังไม่เพียงพอ ถ้าพอแล้วอย่างไรก็ทนถืออยู่ไม่ได้ เมื่อเห็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ชัดแล้วต้องปล่อยวางและรู้เท่าตามเป็นจริง..."
เทศนาธรรมคำสอน.. องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๕
|