ไม่เสียชาติเกิด
"... คำตำหนิว่า เสียชาติเกิด เป็นคำหนัก แต่ไม่มีคำหยาบคายอยู่ในความหนักนี้ จึงเป็นที่ใช้กันสืบมาจนปัจจุบันโดยไม่ถูกต่อต้านจนต้องเลิกใช้ แม้คำนี้จะไม่หยาบคาย แต่ก็เป็นการตำหนิที่รุนแรง ที่ผู้ใหญ่โดยเฉพาะคือมารดาบิดานำมาใช้ แต่จะเป็นการสอนมากกว่าดุว่า คือเมื่อบุตรธิดาประพฤติไม่สมกับฐานะชาติตระกูล ก็จะได้รับคำเตือนว่าอย่าเสียชาติเกิด . เป็นคำเตือนให้รู้ ว่าไม่ได้เกิดมาต่ำ ต้องประพฤติตัวให้ดีงามสมกับฐานะชาติตระกูลของตน สมัยก่อนเด็กฟังก็จะเข้าใจจะได้คิดบ้าง ว่าตัวเองเป็นใคร มีความจำเป็นต้องประพฤติอย่างไร ให้เหมาะสมกับชาติตระกูลของตน เพื่อจะต้องไม่เสียชาติเกิด . ที่จริง ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ น่าจะเป็นการดี แม้จะนึกไว้ให้เป็นคติประจำใจว่า อย่าเสียชาติเกิด จะได้เป็นการช่วยยับยั้งไม่ให้ คิด พูด ทำ ที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ กับชาติตระกูล หรือความเป็นคนของตน หรือของผู้ที่ตนเคารพเทิดทูนศรัทธา ให้เหมาะให้ควรกับภาวะฐานะทั้งของท่านและของตน พยายามทำให้ได้ดังนี้ ก็จะได้ไม่เสียชาติเกิดแน่นอน ..." . พระโอวาทธรรมคำสอน.. องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฺฒโน)
“ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉตีติ.”
วันนี้ได้ยกคาถา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชาวพุทธเราออกมาแสดง ว่า
“ทานํ เทติ” การให้ทานหนึ่ง “สีลํ รกฺขติ” การรักษาศีลหนึ่ง “ภาวนํ ภาเวตฺวา” การเจริญเมตตาภาวนาหนึ่ง
ทั้งสามประการนี้เป็นคุณค่าของศาสนา และเป็นคุณภาพสำหรับท่านผู้บำเพ็ญ
“เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโข โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ”
คือธรรมดาชาวพุทธของเราย่อมมีการให้ทาน การเสียสละ มา
กน้อย เป็นนิสัยของชาวพุทธเรา การรักษาศีลคือการรักษากาย วาจา ใจของตนให้เรียบร้อย การเจริญเมตตาภาวนา คือการสวดมนต์ไหว้พระ วันหนึ่ง ๆ ไม่ให้ขาดทั้งตอนเช้าและตอนเย็น จะยุ่งยากขนาดไหน ก็ไม่ควรละการทำบุญให้ทาน การรักษาศีลอย่างนี้
“เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ”
นั้นคือบางพวกตายแล้วก็ไปสวรรค์ บางพวกตายแล้วไปนิพพานโดยไม่ต้องสงสัย นี้เป็นพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประทานไว้แก่ชาวพุทธเรา.
เทศนาธรรมคำสอน.. องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ทางสายกลางสู่ความสงบ
"...ถ้าทำด้วยความตั้งใจมาก เวลาทำไปก็เครียดไป ทำไปก็ทุกข์ไป เพราะมันไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ ใจของเรามันเก่งในเรื่องการคิดฟุ้งซ่านมาเป็นสิบๆปี จะให้ทันเป็นไปตามใจเราคือ สงบไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมเป็นไปได้ยาก ถ้าทำด้วยความอยาก ผลก็เกิดขึ้นได้ยาก อาจจะถอยหลัง หรือมีความทุกข์มากกว่าตอนที่ไม่ได้ปฏิบัติด้วยซ้ำ แต่ถ้าย่อหย่อนเกินไปมันก็ไม่เกิดผลเช่นเดียวกัน
ที่นี้ทางสายกลางหมายถึงอะไร ทางสายกลางในการเจริญสติก็คือ การรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอามรมณ์ที่มากระทบ ไม่ว่าน่าพึงพอใจ หรือไม่น่าพึงพอใจก็ตาม ประสบกับสุขเวทนาก็ไม่เพลิดเพลินยินดี ประสบกับทุกขเวทนาก็ไม่ขุ่นข้องหมองใจ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการรักษาใจให้อยู่บนทางสายกลาง ไม่เอียงไปทางสุดโต่งสองข้าง
ถ้าเราไม่มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ ก็จะเวียนเข้าไปในทางสุดโต่งอยู่เสมอ อย่าไปนึกว่าทางสุดโต่งเป็นเรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่เรา เป็นเรื่องของคนที่เที่ยวเตร่เมาหัวราน้ำ หรือเป็นเรื่องของฤาษีชีไพรที่ทรมานตน อันนั้นไม่ใช่ เราก็อาจข้องแวะกับทางสุดโต่งได้ตลอดเวลาหากไม่มีสติรักษาใจ
สติรักษาใจให้เป็นปกติได้ เพราะช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์ที่มากระทบ ทำให้ไม่ถูกมันครอบงำ ดังนั้นจึงทำให้จิตตั้งอยู่ในความปกติ และดิ่งสู่ความสงบ อย่างที่ได้เคยพูดไว้แล้วว่า จิตของเรานั้นมีศูษย์ดิ่งอยู่ที่ความสงบ แต่มันลงไปถึงความสงบไม่ได้ เพราะว่ามีอวิชชา อุปาทานเข้าไปเหนี่ยวรั้งเอาไว้ เหมือนกับสาหร่าย หรือรากไม้ที่ยึดก้อนหินก้อนกรวดไม่ให้จมดิ่งลงสู่พื้นน้ำ
ถ้าเรามีสติรู้ทันสิ่งที่มากระทบ และอารมณ์ที่เกิดขึ้น นิวรณ์ต่างๆที่คอยเหนี่ยวรั้งจิตเอาไว้ไม่ให้เป็นสมาธิ ก็จะมีน้อยลงๆ ในที่สุดความสงบก็เกิดขึ้น เป็นความสงบที่ไม่ต้องปิดหูปิดตา หรือขังตัวเองอยู่ในป่า เป็นความสงบที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คน..."
โอวาทธรรมคำสอน.. ท่านพระไพศาล วิสาโล
พิจารณาวิถีของจิต
"...การปรับปรุงจิตใจต้องมีความเข้มแข็ง การนั่งสังเกตใจต้องสังเกตจริง ๆ วิถีของใจจะเดินอยู่ตลอดสายไม่ว่ากลางวันกลางคืน แม้แต่หลับก็ยังมีฝัน นี่ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีของจิตที่เดินอยู่ตลอดเวลาทั้งนั้น หากเราเป็นนักปฏิบัตินักจะกำจัดสิ่งที่เป็นภัยแก่ใจ ทั้งเป็นนักที่จะรู้เท่าวิถีใจของตนแล้ว ต้องเป็นนักสังเกตจิต
ฉะนั้น การภาวนาจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดซึ่งจะได้รู้เรื่องวิถีจิตของตนว่า มันเดินไปในทางที่ผิดหรือที่ถูก เดินไปแต่ละครั้ง ๆ คิดไปแต่ละหน ๆ คิดไปในทางด้านธรรมะหรือคิดไปด้านทางโลก เพื่อการสั่งสมกิเลสตัณหามาพอกพูนหัวใจ เราต้องคิดอย่างนี้
ถ้าเป็นผู้ต้องการธรรมะเครื่องซักฟอกจิตใจ ต้องดูวิถีทางเดินของใจด้วยสติด้วยปัญญาด้วยความเพียร นี่พระพุทธเจ้าท่านเดินมาอย่างนี้ สาวกทั้งหลายท่านก็เดินมาอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่ปรากฏชื่อลือนาม ได้มาสั่งสอนพวกเราจนกระทั่งถึงบัดนี้ ท่านก็ปฏิบัติหรือสังเกตวิถีทางเดินของท่านมาอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นไม่รู้ทางเดินของจิต
จะเดินอยู่ทั้งวันทั้งคืน คิดอยู่ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง จะคิดเรื่องราวร้อยแปดจิปาถะก็ตาม เราไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าเป็นทางดีหรือชั่ว เป็นแต่เพียงว่าปล่อยตามอำเภอใจที่มันคิดไปเท่านั้น ทีนี้ผลประโยชน์ที่จะปรากฏขึ้นนั้นมันไม่มี มีแต่ความรุ่มร้อน
นั่งวันนี้ก็แล้ว วันหน้าก็แล้ว วันนี้มืดไปวันหน้าสว่างมา ก็บ่นอยู่เสมอว่าใจของเรานี้อ่อนแอ ใจของเราไม่มีความสุขความสบาย ก็เพราะการปฏิบัติตัวเองไม่สมภูมิแห่งเหตุ ที่ควรจะทำให้จิตมีความเจริญรุ่งเรืองหรือสะดวกสบายภายในตัวได้ จึงหาความสงบเยือกเย็นไม่ได้ นี่ขอให้พากันพิจารณา..."
เทศนาธรรมคำสอน.. องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙
|