"บัณฑิต มหาบัณฑิต จอมปราชญ์" . ในบรรดาบัณฑิตที่ควรคบค้าสมาคม ตลอดถึงครูอาจารย์ที่ให้อุบายสั่งสอนอันดีงามแก่เรา ชื่อว่าบัณฑิต ไม่ต้องมีความรู้ความฉลาดถึงขนาดต้องแบกตู้พระไตรปิฎกมายืนยัน หรือมีความรู้ความฉลาดขั้นปริญญาตรี โท เอก ก็ตาม สำคัญอยู่ที่ความคิดความเห็น การประพฤติตัวเป็นธรรม ซึ่งเป็นเครื่องชักจูงให้คนอื่นได้คติและได้รับประโยชน์อันชอบธรรม และเห็นเป็นความถูกต้องดีงามไปด้วย เหล่านี้ท่านเรียกว่า “บัณฑิต” เป็นผู้ควรแก่การคบค้าสมาคมระยะสั้นหรือยาว ย่อมเป็นมงคลแก่ผู้คบ ไม่เสียหายล่มจมแต่อย่างใด ยังจัดว่าผู้รู้จักเลือกคบ เป็นผู้มีชีวิตชีวาอันอุดมมงคลเสียอีก ทางพระพุทธศาสนาท่านหมายคนอย่างนั้นว่า “บัณฑิต” . ส่วน “บัณฑิตภายใน” ได้แก่ความคิดอุบายวิธีต่างๆ ที่ จะเป็นไปเพื่อคุณงามความดีแก่ตนและผู้อื่น นับแต่พื้นความคิดเห็นอันเป็นเหตุจะให้เกิดคุณงามความดี จนกระทั่งถึงสติปัญญาที่จะถอดถอนกิเลสออกจากจิตใจเป็นลำดับๆ เป็นขั้นๆ ของสติปัญญา เรียกว่า “บัณฑิต, นักปราชญ์” เป็นชั้นๆ ไปจนถึงขั้น “มหาบัณฑิต” . “มหาบัณฑิต” ได้แก่ท่านผู้ทรงมหาสติมหาปัญญานั่นแล เลยขั้น “มหาบัณฑิต” ไปแล้วก็ถึง “วิมุตติ” เรียกว่า “จอมปราชญ์” หรือ “อัครมหาบัณฑิต” เลยขั้นมหาบัณฑิตไปแล้วก็เป็น “จอมปราชญ์” ได้แก่ผู้เฉลียวฉลาดรอบตัวภายในใจ คือพระอรหันต์สิ้นกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวง
................................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เรื่อง ไม่อยากทำบุญกับพระ (ตอนที่ ๑) โอวาทก่อนฉันจังหัน พระอาจารย์คม อภิวโร วัดป่าธรรมคีรี ----------------------------------
มีโยมบอกอาตมาว่า
" ไม่รู้จะทำบุญวัดไหนดี เดี๋ยวนี้มีแต่วัดไม่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าวัดบ้าน วัดป่า วัดจีน วัดญวณ ผมเคยไปบวช ไปสัมผัสมาแล้วทุกที่ จะเป็นวัดหลวงปู่ดังๆ หรือวัดเล็กๆ ก็ตามเถอะ ผมบอกตรงๆ ผมพวกปัญญาจริต ผมไม่ศรัทธาหรอก พวกโล้นห่มเหลือง เดี๋ยวนี้ผมใส่บาตรพ่อแม่ครับ ไม่ทำบุญกับพระหรอก เปลืองข้าวสุกข้าวสารปล่าวๆ "
อาตมาได้ฟังแล้วจึงตอบเขาไปว่า
- สำหรับคนมีปัญญาชั้นตรี ก็จะเห็นว่า วัดดีก็มี วัดแย่ก็มี เราก็เลือกเอา
- สำหรับคนมีปัญญาชั้นโท ก็จะเห็นว่า "วัด" น่ะดีทุกวัด แต่ "ผู้มาบวช" ไม่ดีก็มี ที่ดีก็มี ต้องพิจารณาเฉพาะเป็นรายๆไป จะให้บวชมาแล้ว หมดกิเลส เป็นพระอริยะทุกรูปทันทีทันใด อันนั้นก็เพ้อเจ้อ
- สำหรับคนมีปัญญาชั้นเอก ก็จะเห็นว่า วัดก็ดี พระก็ดี สำคัญที่ตัวเราเองดีหรือยัง ความดีขั้นสูงกว่าที่เราทำได้ในตอนนี้ยังมีอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องขวนขวายในคุณธรรมนั้น จะพระ จะวัด จะใครก็ตาม ก็จะกลายเป็นครูของเราหมด สอนให้เราเรียนรู้ และเพิ่มพูนสติปัญญาเราตลอดเวลา พิจารณาได้ธรรมะตลอดสายเรื่อยไป
- สำหรับพวกคนโง่ที่สุด...ก็จะเห็นแบบโยมนี่แหละ " ไม่ดีทั้งหมด!" เพราะใจโยมแบกความเศร้าหมองมืดดำไว้จนหนักอึ้ง ประเภทเราดีคนเดียว คนอื่นเลวหมด เห็นแต่โทษเขา โทษเราไม่เห็น น่าสงสารเหลือเกิน เขาเลว เขาก็ไปแล้ว แต่ใจเรายังแบกความเลวเขาอยู่ แถมมาทุกข์กับความเลวเขาด้วย
วัดอื่นวัดไหนไม่สำคัญเท่า "วัดใจ" นะโยม แล้ววัดใจของโยมล่ะ เป็นอย่างไร วัดสะอาดดีไหม พระล่ะ เป็นพระที่ประพฤติดีไหม
หยั่งสติค้นเข้ามาข้างใน "วัดใจ" พระในใจของโยมน่ะ ท่านปฏิบัติอย่างไร เที่ยวเพ่นพ่านอันธพาล ไปเกะกะระรานใครเขาบ้าง ไปตั้งแง่หาเรื่องใครเขาบ้าง ได้ทำตนเป็นพญาช้างชูงวงด้วยความหยิ่งจองหองไปทั่วหรือปล่าว
วัดอื่น...วัดนอก วัดใจ...วัดใน
ถ้าวัดในเสื่อม ต่อให้ไปวัดนอกที่ประเสริฐแค่ไหน มันก็เป็นทัพพีห่อนรู้รสแกง
มอง...ก็มองอย่างตากิเลส ฟัง...ก็ฟังอย่างหูกิเลส เพราะใจมันถูกครอบงำแล้วด้วยอคติ พอขาดสติ มันก็ปรุงแต่ง จับผิด ตั้งแง่หาเรื่อง วุ่นวายไป
"วัดนอก" น่ะเป็นสิ่งที่น้อมนำมาสู่ "วัดใน"
วัดนอกเป็นเครื่องมือทำความสะอาดวัดใน เป็นเรือนพักให้วัดใน เป็นความปิติสุข และเป็นสติ เป็นปัญญาให้แก่พระวัดใน
เมื่อ "วัดใน" ผ่องใส มีพระปฏิบัติงามๆพำนักอยู่ประจำแล้ว อาจไม่ต้องมาวัดนอกก็ได้
เรื่องธรรมดา
"...ถ้าพูดถึงเรื่องว่า 'ธรรมดา' มันเป็นของตายตัว หรือเรียกว่าเป็นของจริง ตั้งแต่เรายังไม่เกิดมาก็เป็นอยู่อย่างนี้ เกิดมาแล้ว ก็จะเจออยู่อย่างนี้หละ เรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย
แม้เราหนีไปแล้ว ตายไปแล้ว ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เท่าไหร่กัป เท่าไหร่กัลป์ ก็เรียกว่าไม่มีใครแก้ไขได้ ท่านจึงให้พิจารณาเป็นเรื่องของธรรมดา..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร
"...กรรม แปลว่าการกระทำ จะร้ายจะดีจะ สุขหรือทุกข์ ย่อมเกิดมาแต่กรรม ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กมฺมุนา วตฺตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มนุษย์เราทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมเป็นไปตามกรรม มีกรรมเป็นของของตนเหมือนกันทุกคน
กรรม คือ การกระทำ ใครกระทำอย่างใดก็ได้รับผลอย่างนั้น กรรมที่ทำแล้วย่อมให้ผลที่ผู้ทำย่อมได้รับและเสวยผลของกรรมนั้น ใครจะหนีเร้นหรือแบ่งปันคนอื่นไม่ได้ ผู้ที่กระทำนั้นแหละจะเป็นผู้ได้รับ..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงพ่อพระสุพรหมยานเถระ (พรหมา พรหฺมจกฺโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
มีลูกศิษย์หลวงปู่คนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างใหญ่ เรียนถามหลวงปู่ว่า
"หลวงปู่ครับ เวลานั่งภาวนานานๆ ยิ่งปวดขึ้น เป็นเพราะร่างกายเราใหญ่โตหรือเปล่าถึงทำให้ปวดเมื่อยถึงขนาดนี้ อยู่ที่ร่างกายสังขารคนด้วยหรือเปล่าครับ" หลวงปู่ตอบว่า "ไม่เกี่ยวหรอก กิเลสลากไปให้คิดว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ลองใหม่ดูสิ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลยนะ" หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
ความรักลูกเหมือนห่วงผูกคอ
ความรักสิ่งของเหมือนปอผูกศอก ความรักไร่นาสาโทเหมือนปลอกสวมตีน ใครแก้สามอย่างนี้ไปนิพพานได้
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
".. ถ้าใจมันวางได้ มันไม่ยึดไม่ถือ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ จิตนั้นก็ได้รับความสบาย นั่นแหละเรียกว่าเป็นผลแห่งการปฏิบัติ.. "
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป
|