"อย่ารบกวนคนที่กำลังฟังเทศน์ฟังธรรม"
การที่ไปรบกวนคนทำสมาธิก็เพียงแค่ไปขัดความเจริญของเขาเท่านั้นเอง ไปเป็นมารไม่ใช่เป็นบาป ไปเป็นตัวทำให้เขาไม่สามารถนั่งให้สงบได้ ก็ไม่ดีก็เพราะว่ามันก็จะทำให้เขามีความรู้สึกไม่ดีกับเราได้ ไปรบกวนเขา
ฉะนั้น เราควรที่จะระมัดระวังเวลาที่เราเห็นคนเขากำลังนั่งสมาธิหรือกำลังนั่งฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างที่เวลาเรามาที่นี่ เวลาที่คนเขานั่งฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าพึ่งเข้ามาดีกว่า หาที่นั่งตรงไหนก่อนรอให้การฟังเทศน์ฟังธรรมเสร็จก่อน แล้วค่อยเดินเข้ามาก็ได้ อย่ามารบกวนคนที่กำลังฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะมันจะทำให้ขาดตอน เวลาฟังเทศน์นี้มันต้องฟังอย่างต่อเนื่อง เหมือนดูภาพยนตร์ ถ้าดูภาพยนตร์แล้วแวบไปเข้าห้องน้ำเดี๋ยวออกมาไม่รู้ภาพยนตร์มันไปถึงไหนนะ การฟังเทศน์ก็เหมือนกัน พอมีอะไรมารบกวนใจ ใจก็จะไม่ได้ฟังแล้ว พอกลับมาฟังอีกทีก็ไม่เข้าใจแล้วว่าพูดถึงเรื่องอะไรแล้ว
ฉะนั้น การฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้เกิดผลจริงๆ ต้องฟังอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดตอน ผู้ที่มาทีหลังก็ควรที่จะเคารพนะ สมาธิของผู้ฟัง อย่าไปทำลายสมาธิเขา รออยู่ข้างนอกก่อน รอให้เขาฟังเสร็จก่อนแล้วเราค่อยเข้ามา หรือถ้าจะเข้ามาก็ต้องย่องเข้ามาเงียบๆ แบบไม่รบกวนใคร ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่เดินมาแบบส่งเสียงแบบอึกกระทึกครึกโครม ถ้าเป็นยังงั้นก็ไม่ควรที่จะทำ.
สนทนาธรรมะบนเขา วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“ในโลกนี้มีทั้งคนดี คนไม่ดี”
ถาม : ทำไมถูกเบียดเบียน เอาเปรียบ ทางแก้คือคิดทำทานหรือเจ้าค่ะ
พระอาจารย์ : คือเราอยู่ในโลกนี้มันก็มีทั้งคนดีคนไม่ดี คนที่เบียดเบียนกับคนที่ทำทาน บางทีมันก็เป็นความซวยของเรา ที่ต้องไปเจอคนที่ชอบเบียดเบียน บางทีก็โชคของเราที่ต้องไปเจอกับคนที่ชอบ ทำบุญช่วยเหลือกัน
ฉะนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติของโลก มีทั้งคนดีมีทั้งคนไม่ดีปะปนกันไป แต่เราสามารถทำใจของเราให้เฉยๆ กับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ โดยให้คิดว่าเป็นเหมือนฝนฟ้าอากาศก็แล้วกัน ฝนตกแดดออกก็เหมือนคนดีคนชั่ว นี่เราไปกำหนดไม่ได้ เราไปห้ามมันไม่ได้ แต่เราห้ามใจของเราได้ ว่าอยู่ในโลกนี้ ก็ต้องเจอคนดีบ้างคนไม่ดีบ้าง แต่เราอย่าไปทำตัวของเราก็แล้วกัน อย่าไปทำตัวเราไม่ดีก็แล้วกัน เอาตัวอย่างของคนไม่ดีมาสอนเราว่าทำแบบนี้ไม่ดีเพราะทำให้คนอื่นเดือดร้อนและทำให้คนอื่นเขาโกรธเกลียดเราได้ ถ้าเราเอาตัวอย่างของคนดีทำแล้ว ทำให้คนอื่นรักเราชอบ เราทำแล้วมีความสุขนะ.
สนทนาธรรมะบนเขา วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ประโยชน์จากการตำหนิของผู้อื่น"
ถาม : หลายครั้งมีปัญหามักเกิดจากความไม่ได้มีเจตนาร้ายกับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเข้าใจในตัวดิฉันผิด เป็นคนไม่ดี บางทีก็ถูกมองว่าจะแย่งผู้ชาย โดยที่ดิฉันไม่ได้คิดเช่นนั้น ดิฉันรู้สึกผิดมากๆ ที่คิดน้อย เครียดมากๆ ที่ถูกมองเป็นคนไม่ดี ยิ่งพูดยิ่งดูเหมือนแก้ตัว ดิฉันจะแก้ไขอย่างไรดีคะให้ผู้อื่นเข้าใจดิฉันถูก ไม่โกรธไม่เกลียด และกรรมอะไรที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆ ส่วนมากไปในทางผู้ชาย
พระอาจารย์ : คือปัญหาของเรานี้มีอยู่สองประเด็นด้วยกัน ปัญหาหนึ่งก็คือความอยาก อยากให้คนอื่นเขาคิดดีกับเรา อันนี้ก็เป็นปัญหาเพราะเราไม่รู้ความจริงว่าคนอื่นเขาจะคิดยังไง เราไปห้ามเขาไม่ได้ไปสั่งเขาไม่ได้ เขาจะคิดดีคิดร้ายนี้เป็นเรื่องของเขา เราต้องทำใจปล่อยวางเรื่องของคนอื่นไป แล้วเราจะสบายใจ เขาคิดร้ายหรือคิดดีก็เป็นเรื่องของเขา ประเด็นที่สองที่เราไม่สบายใจก็เพราะว่า เราอยากให้เขาคิดดี เราก็เลยไม่สบายใจเวลาเขาคิดไม่ดี
เราก็มาหยุดความอยากนี้ อย่าไปอยากให้เขาคิดดีกับเรา เขาจะคิดร้ายหรือดีก็เป็นเรื่องของเขา เราไปห้ามเขาไม่ได้ และอีกประการหนึ่ง สิ่งที่เราควรจะมองว่าความจริงในตัวเรานี้ เราดีหรือไม่ดี ถ้าเราดี ต่อให้ใครเขาว่าเราไม่ดี มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงของเราไป ถ้าเราไม่ดี ต่อให้เขาชมว่าเราดีอย่างไร เราก็ยังไม่ดีอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้น ถ้าเรากล้ามองตัวเราเอง มองความจริงของเรา ถ้าเราไม่ดีตามที่เขาพูด เราก็ต้องรีบแก้ไข เราควรจะขอบใจเขาเสียอีกว่า เขาเป็นเหมือนกระจกส่องหน้าเรา บอกให้เรารู้ว่าตอนนี้หน้าเราเปื้อนนะ เปื้อนที่คิ้วเปื้อนที่แก้ม มีรอยด่าง มาเช็ดเสีย เขาก็เป็นเหมือนกระจกถ้าเขาบอกความจริงของเราว่าเราไม่ดีตรงนี้ แล้วเรารับคำที่เขาบอกเราไปแก้ไข ต่อไปเราก็ดีเราแก้ไขความไม่ดีของเราไป ทีนี้เราก็จะได้รับประโยชน์จากการตำหนิของผู้อื่นแล้วเราก็จะมีความสุขใจ แทนที่เราจะทุกข์เรากลับมายินดี เวลาใครตำหนิเรา เราก็เอามาดูว่าเป็นจริงอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า ถ้าเราไม่ดีตามที่เขาพูดเราก็ควรจะแก้ไข ถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดเราก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อนอะไร เราก็ยังดีอยู่ อย่างคนมาเรียกเราควายนี้เราก็ดูว่าเรามีเขาหรือเปล่า (หัวเราะ) ไอ้เราไม่มีเขาเรามีแค่สองขาเราจะไปเป็นควายได้อย่างไร เราจะไปตื่นเต้นไปตกใจไปเดือดร้อนโมโหทำไมใช่ไหม เขาพูดของโกหก เพียงแต่หลอกเราแค่นี้ ก็ทำให้เราเต้นขึ้นมาแล้ว
นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ๑. คนเขาจะพูดอย่างไรเราก็ไปห้ามเขาไม่ได้ ๒. ความทุกข์ของเราเกิดจากความอยากของเรา อยากให้เขาพูดในสิ่งที่เราอยากฟัง พอเขาพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟังเราก็ทุกข์ ๓. เราไม่มองตัวเราเอง เราไม่ดูความจริงของเราเองว่า เราเป็นอะไร นี่สามประเด็นนี้ถ้าเราเอามาใช้รับรองได้ว่าเราจะไม่เดือดร้อนกับคำสรรเสริญนินทาของคนอื่น ใครนินทาเรากลับจะชอบเสียอีก เพราะเป็นเหมือนกระจกส่องหน้าส่องเงา ให้เราเห็นความจริงของเรา บางทีเราเข้าข้างตัวเราเอง คนเรานี้มักจะเข้าข้างตัวเราเอง ท่านบอกว่าความดีของเรานี้ถึงแม้จะเท่าผงธุลีเราก็จะเห็นเท่ากองภูเขา ส่วนความชั่วของเรานี้แม้จะเท่ากองภูเขาก็เห็นเป็นเหมือนผงธุลีไป ในทางตรงกันข้ามเวลาความดีของคนอื่น ถึงแม้จะเท่ากองภูเขาเราก็เห็นเป็นแค่ผงธุลี ส่วนความชั่วของคนอื่นแม้จะเป็นเพียงแค่ผงธุลีเราก็มองเท่ากับกองภูเขา นี่คืออคติที่มีอยู่ในใจเรา ความไม่เที่ยงธรรมของใจเรา เราจะมองเข้าข้างตัวเอง ฉะนั้นบางทีเราต้องอาศัยคนอื่นให้เขามาบอกเรา เพราะคนอื่นเขาจะบอกตามความเป็นจริง.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เรื่อง ไม่อยากทำบุญกับพระ (ตอนที่ ๒) โอวาทก่อนฉันจังหัน พระอาจารย์คม อภิวโร วัดป่าธรรมคีรี ----------------------------------
ถ้าหาพระดีๆไม่พบ ไม่รู้จะไปทำบุญวัดไหน ก็จงมีสติเดี๋ยวนี้ ทำความรู้อยู่ในปัจจุบัน ทำกำลังใจประหนึ่งว่ากำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลาดีที่สุด พระพุทธองค์ท่านประทับอยู่ที่ "วัดใจ" ของโยมนั่นแหละ มีพระอยู่ประจำวัดด้วยนะ ไม่เชื่อถามท่านเจ้าอาวาสวัดใจดูก็ได้ เวลาเราคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี เจ้าอาวาสวัดใจท่านก็จะเตือน เวลาเราทำดีเจ้าอาวาสวัดใจท่านก็ชม เคยสังเกตุไหม
ธรรมชาติสามัญสำนึกไงล่ะ...เจ้าอาวาสวัดใจ !
ธรรมชาติของใจนี้อัศจรรย์มาก ถ้าฝึกสติดีๆ จะไม่อยากทำบาปใดๆเลย มันจะปรากฏโทษความเศร้าหมองขึ้นมาทันที แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ตาม
ที่เราดีใจเวลาทำบาปสำเร็จ เช่น โกงเงินเขามาได้ ขโมยของเขามาได้ ตกปลาได้ หรือสะใจเวลาศัตรูตกทุกข์ อันนั้นมันอารมณ์กิเลสชั่ววูบ พอมันได้สติ มันจะละอายชั่ว เร่าร้อนเป็นไฟเผา หวาดระเเวงกลัวภัย หรือนึกสงสารเมตตาผู้อื่นขึ้นมา ธรรมชาติของใจที่แสดงออกเหล่านี้ โยมเคยพินิจพิเคราะห์ไหม
ประเด็นเรื่องไม่ใส่บาตรพระสงฆ์ ทำบุญกับพ่อแม่ดีกว่า ไม่ขอทำบุญกับวัดวาพระสงฆ์รูปใด อาตมาก็ขออนุโมทนาด้วยครึ่งหนึ่ง
เพราะอะไรจึงครึ่งเดียว ?
เพราะว่าคุณธรรมของบิดามารดานั้นมาก บิดามารดาท่านให้ชีวิตร่างกายขันธ์ ๕ เรามา สอนเรา เลี้ยงดูให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีความเจริญรุ่งเรืองในทางโลก แต่ช่วยให้เราดับทุกข์ถึงพระนิพพานไม่ได้
สมบัติทางโลกให้ได้แค่ความสบายภายนอกจนตายเน่าเข้าโลงเท่านั้น แต่ไม่สามารถเอาชนะความแก่ชรา ความเจ็บป่วย ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งปวงได้ จะรวย จะเก่ง จะมีชื่อเสียงเกียรติยศอย่างไรก็หนีความทุกข์ไม่พ้น
คนรวยๆอาจจะมีทุกข์มากกว่าคนจนๆด้วยซ้ำ
ถ้าประสงค์ความสุขอันจริงแท้ต้องศึกษาวิชชาพระพุทธเจ้า ซึ่งการศึกษาวิชชาพ้นทุกข์นี้ต้องพึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัย
จะเลือกคบเฉพาะพระพุทธเจ้า และพระธรรมเท่านั้น ตัดขาดพระสงฆ์ ไม่คบพระสงฆ์...ไม่ได้ !
เพราะพระสงฆ์ที่ดี ท่านเป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นครูบาอาจารย์ เป็นพี่เลี้ยง และเป็นกัลยาณมิตรให้เราเข้าถึงธรรม
หลักของพระพุทธศาสนาคือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ละอัตตาตัวตน สู่อนัตตา และทะลุสุญญตา มีพระนิพพานเป็นที่สุด
คำว่าปล่อยวาง ไม่ใช่ว่าปล่อยทิ้ง จนไม่ทำอะไร นอนขี้เกียจ ท่านสอนให้ขยัน อดทน ทำความเพียร เจริญสติมากๆ คนเรียนธรรมะจริงสังเกตุง่าย ยิ่งขยัน ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งอดทน ยิ่งอ่อนน้อม
เห็นใจโยมนะ อาจมีประสบการณ์ไม่ดีกับพระมาหลายเรื่องราว ขอให้มีสติในปัจจุบันว่า
เรื่องเศร้าหมองทั้งหมดนั้น...มันดับไปแล้ว !
ไม่มีประโยชน์จะไปยึดถือแบกความสกปรกเหล่านั้น
เวลาภาวนาให้ตั้งสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องมีอดีต ไม่ต้องมีอนาคต อย่าเป็นคนมีอนาคต เราต้องพร้อมตายเสมอ บางทีอนาคตที่เราวาดฝันไว้ เราอาจตายก่อนมันจะมาถึงก็ได้
ตัดทุกอย่าง กำหนดสติอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว ยิ่งมีคำบริกรรม พุทโธๆๆๆๆ กำกับไว้เป็นหลักของสติด้วยยิ่งดี สติจะได้ต่อเนื่อง ไม่หลงอารมณ์ ไม่ส่งออกนอก จิตจะมีความตั้งมั่นได้ง่าย แรกๆก็ล้มลุกคลุกคลาน ถลอกปอกเปิก ต่อไปก็จะมีความชำนาญในการเข้าออกความสงบเอง
ยิ่งโยมบอกว่าเป็นพวกปัญญาจริต ถ้าจิตตั้งมั่นแล้ว มีสมาธิทรงตัว ต้องพิจารณาความตายมากๆ เวลาหมดไป อายุขัยหมดไปตลอดเวลา ระวังนะ ตายลงตรงนี้ไม่รู้สุคติคืออะไร กรรมฐาน ๔๐ กอง ประมวลมาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เกิด-ดับ เกิด-ดับ ซ้ำกันอยู่ตรงนี้ อนิจจังทั้งนั้น
โลกหวังนิจจัง ธรรมว่าอนิจจัง โลกหวังสุข ธรรมว่าทุกข์ โลกหวังให้เป็นดังใจเรา ธรรมว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรเป็นของเราแท้
สายทางเดินมา "หยุด" ตรงใจกลางพระธรรมจักรพอดี อริยสัจจ์ ๔ จะเเสดงตัวทำลายอวิชชา ยุติวัฏจักร เมื่อนั้นจะเปิดเผยธรรมชาติที่อยู่เหนือความเกิดตาย อยู่เหนือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พิจารณามากๆ โยมจะพบความสุขที่จริงแท้ ความดีงามที่ไม่เกี่ยวข้องผูกมัดกับอะไร ไม่มีภาระ ไม่มีกังวล ไร้สิ่งใดต้องแบกหาม เป็นอิสระจากโซ่ล่ามคอ ตรวนล่ามขา กะลาครอบจิต
แล้วโยมจะพบพระพุทธเจ้าแท้ พระธรรมแท้ พระสงฆ์แท้ๆ จะสำนึกถึงพระคุณอันสุดประมาณของท่าน ณ วัดใจของโยม!
เมื่อจิตใจไม่คิดมากไปหลายเรื่องหลายราว แล้วจิตก็จะมีความสุขเกิดขึ้น เหมือนกับบุคคลนี่แหละ ถ้าไม่ถือสิ่งของหลายอย่าง ถือแต่ของเบาๆ ก็เดินไปสบาย หรือปล่อยวางหมดเดินแต่ตัวเปล่าๆ ไป หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
"นี่ คนที่ไม่ทำความเพียร ไม่ก้าวขาเดิน แต่อีกคน เขาไม่สนใจ เขาก้าวขาเดินไปเรื่อย ๆ เขาก็จะไปถึงหมู่บ้านที่จะไป เขาก็มีความสุขเมื่อเขาไปถึงแล้ว เขาเดินไม่หยุด เดินไปเรื่อย ๆ ไม่ติดหนัง ลิเก ละคร และการปฏิบัติของตนถูกต้อง ก็จะได้สำเร็จ มีความสุข ก็คือ การพ้นทุกข์"
หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป
"ถ้าหากเรามีความพอใจ เราหลงเพลิดเพลินแล้ว เรายึดมั่นว่ามีความสุขแล้ว เราก็รู้ทันทีว่าเดี๋ยวนี้จิตของเรากำลังอยู่ในราคะ ตั้งอยู่ในราคะ ความกำหนัด ความยินดี เราควรที่จะรู้อย่างนั้นทันที ถ้าเมื่อเรารู้แล้วเราก็ควรที่จะปล่อยวาง ว่าอันนี้เป็นราคะเกิดขึ้นมา ถ้าหากเรายึดมั่นถือมั่น ทุกข์จะตามมาหาเรา เพราะเราติดอยู่ักับสิ่งนั้น"... หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป
" พระพุทธเจ้า ท่านจึง ตรัสเป็นพุทธภาษิต ไว้ว่า "นัตถิ โลเก อนินทิโต" แปลใจความว่า คนที่ไม่ถูกนินทา ไม่มี ในโลก เราจะให้สัตว์โลก ปราศจากสิ่งดังกล่าวไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็อย่าพา กันไปเอาเรื่องของโลกมา เป็นอารมณ์ของใจ จะทำให้จิตใจของเรามัวหมอง " โอวาทธรรม หลวงปู่คำดี ปภาโส
"...ความโลภไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ทรัพย์ที่แสวงหาด้วยความโลภเป็นใหญ่ ได้ทำลายชีวิตและทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของใครต่อใครมาแล้วอย่างประมาณมิได้ ปรากฏให้เห็นอยู่ในชีวิตนี้
ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ทั้งโลภในทรัพย์ ในยศ ในชื่อ ล้วนเป็นทุกข์หนักนักทั้งสิ้น ตนเองก็เป็นทุกข์ ทั้งยังแผ่ความทุกข์ไปถึงผู้อื่นอีกด้วย จึงเป็นกรรมไม่ดี..."
พระโอวาทธรรมคำสอน.. องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฺฒโน)
"...ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหา สะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัว ร่างกายที่ว่าเป็นของเราก็ยังเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้จักกันมานานนับล้านๆ ปีคนแล้วคนเล่า
ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวาย สะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเราซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้..."
พระโอวาทธรรมคำสอน.. องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฺฒโน)
|