"ดวงจิตเป็นตัวรู้ผู้รู้"
ถาม : ดวงจิตไม่ดับหรือคะ รอไปเกิดกับร่างใหม่ เช่นนั้นดวงจิตไม่เป็นอนัตตา กรุณาชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ
พระอาจารย์ : ดวงจิตนี้มันไม่มีตัวตนหรอก มันเป็นดวงจิต เป็นตัวรู้ผู้รู้ ตัวตนมันเกิดจากผู้คิด พอคิดขึ้นมาก็มีตัวตน พอหยุดคิด ตัวตนก็หายไป เวลานั่งสมาธิ เวลาจิตสงบ จิตหยุดคิด ตัวตนก็หายไป เหลือแต่ตัวรู้ แต่ตัวจิตมันไม่ตายมันไม่หมด มันเป็นตัวรู้อยู่ตลอดเวลา มันเป็นตัวรู้ตัวคิด แล้วมันไปหลงกับความคิดของมันเอง ไปคิดว่ามันเป็นตัวตนขึ้นมา.
สนทนาธรรมะบนเขา วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
" .. ถ้าเรามีธรรมะ อยู่ในใจของเรามากๆ เราจะให้อภัย ซึ่งกันและกันได้มากขึ้น
เมื่อมีการอภัย ให้กันมากขึ้น ความตึงเครียดในใจ ก็จะไม่มี .."
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ( อมฺพรมหาเถร ) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
"...นิสัย ก็คือ เราอยู่กับหลวงพ่ออย่างนี้ ถ้าเราทำไม่ถูก หลวงพ่อก็ต้องบอก เราถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ถือนิสัย ก็คือ ถือพระวินัย ถ้าเราไปขอนิสัยกับครูบาอาจารย์ แต่ว่าเราไม่ปฏิบัติตาม เราก็ยิ่งบาป ต้องรู้ว่าถ้าเราสงสัยอยู่ว่า มันจะผิดหรือจะไม่ผิด เราอย่าไปทำ ถ้าเราสงสัยอย่างนี้ ถึงแม้มันไม่ผิด เราก็บาปไปแล้ว ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่กิเลสเรามันเห็นแก่ตัวเนาะ อืม...ไม่ต้องสงสัย ปล่อยวาง อะไร เอ้อ...เป็นคนมักง่าย แล้วก็เราทำอย่างนี้ เราก็ไม่ได้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า..."
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙
"บุญนี้ได้มากน้อย เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาทั้งนั้น ได้มากเท่าไรก็ไม่เหลือเฟือไม่เฟ้อเหมือนอย่างอื่นๆ เป็นสิ่งที่สัตว์โลกปรารถนาโดยทั่วกัน แม้ท่านที่ถึงวิมุตติพระนิพพาน ก็ยังต้องมีธรรมชาติอันหนึ่งที่โลกทั้งหลายพอทราบกันได้ในทางสมมุติว่า ปรมํ สุขํ ท่านยังมีความสุขอย่างยิ่งที่นอกสมมุติอยู่ภายในใจท่าน ฉะนั้น เมื่อเราทราบแล้วว่า บุญคือสิ่งที่โลกต้องการ เราผู้หนึ่งในนามของโลกทั่วๆ ไป จงพยายามทำความสนใจและขวนขวายในทางบุญให้เกิดขึ้นโดยสม่ำเสมอ จนตลอดอายุขัยวัยสิ้นสุด . คนไม่มีบุญ สัตว์ไม่มีบุญ เป็นบุคคลและสัตว์ที่อาภัพมาก เกิดมากับโลกเขาแม้วันคืนปีเดือนยังคงเส้นคงวาอยู่ตามธรรมดาก็ตาม ก็รู้สึกว่าวันคืนปีเดือนนั้นยืดยาวมาก อยากให้มืดให้แจ้งเสียโดยเร็วเพราะทนต่อความทุกข์ความทรมานไม่ได้ นี่แหละการขาดบุญคือความสุข มีแต่ความทุกข์ทรมานทางกายทางใจบีบบังคับอยู่ตลอดมา วันคืนปีเดือนจึงเป็นเหมือนกับยืดยาวจนเหลือประมาณ ความอาภัพบุญยังต้องแบกบาปหามกองทุกข์ไม่มีประมาณ ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อตัวเองเกินไปเป็นสาเหตุให้รับเคราะห์กรรม"
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔
"...ผู้ใดตามดูจิตของตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร เพราะจิตเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้รับเห็น ผู้รับเอาความสุขความทุกข์ ถ้าเราตามดูจิตของเราอยู่ เราก็ไม่เป็นคนอนาถาเท่านั้นน่ะ
กิเลสทั้งหลายที่จะมาอยู่ในจิตใจให้เศร้าหมองไม่ผ่องใส อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ ความรู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น เห็นอยู่ รู้อยู่ ทั้งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน เช่นนั้น อันนี้คือผล ของการปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับ..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่ชา สุภัทโท
"...รูป นาม ไม่เที่ยงจริงอย่างนี้ รูปนามเป็นก้อนทุกข์ เป็นกองทุกข์อย่างนี้ รูป นาม ไม่ใช่ตัวตนของเราอย่างนี้ เมื่อไม่ใช่ตัวตนของเรา ทำไมจิตจึงมายึดหน้าถือตา มายึดตัวถือตน มายึดเรา ยึดของ ๆ เรา
ยึดถึอแล้วได้อะไร ก็ไม่มีได้อะไร ได้แต่กิเลสราคะ ได้แต่กิเลสโทสะ ได้แต่กิเลสโมหะ เต็มไปหมด เมื่อมีตัวกิเลสอันนี้เกิดขึ้นมา ยึดมาถือมาวุ่นวายอย่างที่โลกเขาวุ่นวายอยู่อย่างนี้แหละ..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
"...ถ้าโยมไม่รู้สรณะพุทธะ พระไม่รู้กรรมฐาน ศาสนาจะตั้งอยู่ไม่ได้เลย
จะทำ จะพูด จะคิด สิ่งใด ก็จงทำ พูด คิด แต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน และผู้อื่นเถิด
การที่เราต้องการอยากจะพ้นทุกข์ เราต้องเข้าหาทุกข์ ถ้าเรากลัวทุกข์ เราก็พ้นทุกข์ไม่ได้..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
“...ผู้ใด สามารถปฏิบัติภาวนา ในท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมือง ที่มีแต่ความอึกทึกครึกโครม หรือแม้แต่กระทั่ง ในขณะที่รอบๆ ตัวมีแต่ความเอะอะวุ่นวาย ก็สามารถกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธิที่ผู้นั้น ทำให้เกิดได้จึงเป็นสมาธิที่เข้มแข็ง และมั่นคงกว่าธรรมดา
ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะ คือไม่อำนวยนั่นเอง เพราะว่า สถานที่ที่เปลี่ยววิเวกนั้น ย่อมเป็นสัปปายะ อำนวยให้เกิดความสงบอยู่แล้ว จิตใจ ย่อมจะหยั่งลงสู่สมาธิ ได้ง่ายเป็นธรรมดา...”
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
"...จิตของเราเหมือนอาหารที่อยู่ในชาม สติเสมือนฝาชาม ถ้าเราขาดสติเท่ากับเปิดฝาชามไว้ แมลงวัน (กิเลส) ย่อมจะบินมาเกาะ เมื่อเกาะแล้ว มันก็กินอาหาร แล้วก็ขี้ใส่บ้าง นำเชื้อโรคมาใส่ให้บ้าง ทำให้อาหารนั้นเป็นเป็นโทษ เป็นพิษ เมื่อเราบริโภค อาหารที่เป็นพิษเราก็ย่อมได้รับทุกข์ประสบอันตราย
ฉะนั้น เราจะต้องคอยระวังผิดฝาชามไว้เสมอ อย่าให้แมลงวันมาเกาะได้ จิตของเราก็จะบริสุทธิ์สะอาด เกิดปัญญาเป็นวิชชา ความรู้..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
|