Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สังขารไม่เที่ยง

ศุกร์ 24 ก.พ. 2017 4:27 am

คำถาม :

บุคคลกลุ่มหนึ่งชอบกล่าวอ้างพระองค์นั้นพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่เองก็มีผู้จดหมายถามว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า และบางครั้งยกยอให้หลวงปู่เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ก็ได้เมตตาตอบจดหมายเขาเหล่านั้น

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

ที่ให้คะแนนหลวงปู่เป็นพระอรหันต์ แท้จริงแล้วหลวงปู่หาพระอรหันต์ในสกลกาย สกลใจ สกลวาจามาช้านานแล้วไม่พบเลย พบแต่กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารเท่านั้น แม้จิตสังขารเล่าก็เกิดดับเร็วยิ่งกว่าพยับแดด ติดต่อกันเป็นรอบๆ เป็นพืดหาระหว่างมิได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือผลลัพท์

การปฏิบัติกาย วาจา ใจให้ถูกทางเป็นหนทางไปสู่พระอรหันต์เท่านั้น ไม่ใช่กาย วาจา ใจเป็นพระอรหันต์ ถ้าปฏิบัติผิดเล่าก็เป็นทางไปสู่ความเสื่อม จิปาถะนรกก็ว่าเพราะมันรกอยู่ที่ใจเดือดร้อน เมื่อมีผู้สรรเสริญว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ก็เฉยเสียไม่รับไม่ปัด มีผู้ยกยอปอปั้นว่าเราเป็นพระอรหันต์ก็อย่าดีใจ เพราะพระวินัยทรงห้ามปรามไว้แจ่มแจ้งแล้ว

พระอรหันต์ไม่มีในรูปกาย นามกายคือขันธ์ ๕ เพราะรูปกายนามกาย ขันธ์ห้าเป็นขันธมาร กิเลสมารก็เข้าไปสิ่งถือเอาเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์บุคคล ชนะกิเลสมารด้วยพระปัญญาอันถ่องแท้แน่ใจ มารทั้งหลายก็หายหน้าไปพร้อมกันทันเวลาพริบตาเดียว

รู้เท่าอันใดนั้นก็หายไปเพราะไม่ได้มาสงสัยอันนั้นอีกใช่หรือไม่ ใจที่ฝึกฝนดีแล้วกลายเป็นทรงธรรมอันไม่ตาย ไม่ได้มาบัญญัติว่าใจอีก แต่เพียงบัญญัติว่าธรรมอันไม่ตาย ธรรมทรงธรรม นิพพานทรงนิพพานก็ว่าได้

จดหมายของลูกๆ นั้น หลวงปู่ได้รับแล้วรู้สึกซาบซึ้งในสัมมาวาจาที่ลูกๆ พูดลูกๆ ปรารภ การที่ลูกให้คะแนนว่าหลวงปู่เป็นพระอรหันต์นั้นมันเป็นเรื่องของลูกๆ ต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของหลวงปู่เลย หลวงปู่มาตรวจดูในรูปขันธ์ก็สักแต่ว่าเป็นรูปขันธ์ไปเสีย มาตรวจดูในนามขันธ์ก็เป็นแต่สักว่านามขันธ์เสีย มาตรวจดูในคำว่าหลวงปู่ก็เป็นแต่สักว่าคำว่าสมมติหลวงปู่ไปเสีย พระอรหันต์ไม่มีในหลวงปู่เสียแล้ว เหตุนั้นหลวงปู่จึงไม่ดีใจเสียใจในเรื่องนี้

อนึ่ง รูปขันธ์ก็ดี นามขันธ์ก็ดีที่เรียกว่าเราๆ เขาๆ ท่านๆ ตลอดจนถึงจิตใจและผู้รู้ ถ้าปฏิบัติถูกก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหนทางเดินเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าทำถูกทางก็เป็นหนทางเพื่อเข้าสู่พระอรหันต์ ถ้าทำผิดก็ตรงกันข้าม หนทางเข้าสู่พระอรหันต์กับหนทางสู่พระนิพพานก็รสชาติอันเดียวกัน ต่างกันก็แต่คำว่าชื่อเท่านั้น

สุดท้ายด้วยเดชพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงเป็นสุขทุกถ้วนหน้าในโลกุตรธรรมของพระบรมศาสดาอยู่ทุกเมื่อเทอญ



หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม







"กรรม"
"พระอรหันต์" มี "ผลกรรมเก่า" ตามมาก็จริง เป็นแต่ใน "ปัจจุบันกรรม" เท่านั้น และ "อนาคตกรรมไม่มี" เป็นของละเอียดมากนักหนาแท้ ๆ

"ผลของกรรมเก่า" ตามมาถึง ก็พบแต่ "เรือนร้าง" คือ "ขันธ์ ๕ ล้วน ๆ" และก็ "ไม่มีกิเลส" ยึดถือเอาเป็นเจ้าของอยู่ "ในเรือนว่างเปล่า" คือ "ขันธ์ ๕" นั้น เพราะ "เป็นขันธ์ที่ไม่มีเจ้าของหลง" เพราะ "ทอดบังสุกุล" ไปแล้ว

คล้ายกับ "เอาไฟไปเผา" น้ำลายที่เทออกจากกระโถนแล้ว "เจ้าของน้ำลาย" ย่อม "ไม่เดือดร้อน" และ "ไม่ผูกเวรผูกภัย"

"ศีล สมาธิ ปัญญา" ของพระอรหันต์ กลมกลืนกันอยู่ใน "ขณะเดียว" ทุก "อิริยาบถของจิตใจ"

มีปัญหาว่าพระอรหันต์ จัดเป็น "ศีล สมาธิ ปัญญา" ได้หรือไม่
ตอบแบบติดไม่คาว่า จัดเป็น "มหาวิมุตติศีล มหาวิมุตติสมาธิ มหาวิมุตติปัญญา"

แต่มิได้ "เรียงแบบกลมกลืน" กันอยู่ใน "ขณะเดียว" ทุกอิริยาบถของจิตใจ "มิได้รักษาลำบาก" เหมือนผู้คุมคุมนักโทษ

เพราะเจอของที่ "ไม่มีโทษ" เจือเลยแม้แต่ "นิดเดียว" ผู้เตรียมระวังอยู่ กับ ผู้ยังมีโทษอยู่ ก็มีความหมายอันเดียวกัน

ผู้มี "ใจที่ไม่มีโทษ" แล้วจะระวังใจทำไม แต่เมื่อยังไม่ถึงพระอรหันต์ก็ต้อง "ระวังใจ" อยู่ ถ้าไม่ระวังมันก็ "ผิดจริง ๆ" ไม่น้อยก็มาก

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี(ภูจ้อก้อ)บ้านแวง อ.หนองสูงใต้ จ.มุกดาหาร





“... สมาธิ คือจิตที่แน่นอยู่ในอารมณ์เดียวเรียกว่า “สมถะ” จิตที่ไม่ติดต่อกับสิ่งใด มีความสะอาด ปราศจากอารมณ์ภายนอก มีสติสัมปชัญญะ รู้รอบคอบ ปลดปล่อยอารมณ์เสียได้ เรียกว่า “วิปัสสนา”

เมื่อสมาธิซึ่งประกอบด้วยวิปัสสนาเกิดขึ้น ความเป็นใหญ่ เป็นอิสระในตัวทั้ง ๕ อย่างก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ

๑. “สัททินทรีย์” ศรัทธาความเชื่อก็เข้มแข็งมั่นคง ใครจะมาพูดดีหรือไม่ดีอย่างไร ใจก็ไม่หวั่นไหว

๒. “วิริยินทรีย์” ความพากเพียรก็แก่กล้า ถึงใครจะมาสอนให้หรือไม่สอนให้ ก็ทำไปเรื่อย ไม่ท้อถอยหรือหยุดหย่อน

๓. “สตินทรีย์” สติก็เป็นใหญ่ เป็นมหาสติ ไม่ต้องไปข่มไปบังคับ มันก็แผ่จ้ากระจายไปทั่วตัวเหมือนต้นไม้ใหญ่ กิ่งก้านใบของมันย่อมจะแผ่สาขาลงมาคลุมลำต้นของมันไว้ และพัดกระพือขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครไปจับเขย่าหรือดึงยอดมันลงมา ความรู้ของเราก็จะจ้าไปหมด ทั้งยืนเดิน นั่ง นอนทุกอิริยาบถ มันรู้ของมันได้เองโดยไม่ต้องไปนึก ความรู้รอบอย่างนี้แหละ เรียกว่า “มหาสติปัฏฐาน”

๔. “สมาธินทรีย์” สมาธิของเราก็เป็นใหญ่ จะทำอะไร ๆ อยู่ก็ตาม จิตก็ไม่มีวอกแวก ถึงจะพูด จะคุยกันให้ปากอ้าออกไปตั้งวา ใจก็คงที่เป็นปกติอยู่ กายมันจะอยากกิน อยากนอน อยากนั่ง อยากยืน อยากเดิน อยากวิ่ง อยากนึก อยากคิด อยากพูด อยากทำก็ทำไป ช่างมัน หรือว่ากายมันจะเจ็บ จะป่วย จะปวด จะเมื่อยที่ตรงไหนก็ให้มันเป็นไป จิตใจก็ตั้งเที่ยงอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่วอกแวกไปทางอื่น

๕. “ปัญญินทรีย์” ปัญญาความฉลาดรู้ก็เป็นให้เกิดขึ้นในตนเอง อาจสามารถที่จะทำดวงจิตของตนให้บรรลุธรรม สำเร็จมรรคผลเป็นโสดา สกิทาคา อนาคาจนถึง อรหันต์ ก็ได้ ...”

เทศนาธรรมคำสอน..
องค์ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ







"..ให้พากันวางความตาย

อย่าเสียดายความมี

ตู้คัมภีร์ใหม่อยู่ในกายเฮานี่.."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต







เมียบ่นผัว

วันนี้ช่วงบ่าย ๆ ขณะที่องค์หลวงปู่ กำลังควบคุมการก่อสร้างศาลาที่พักผู้ปฏิบัติธรรม ที่ศาลาใหญ่อยู่นั้น มีสุภาพสตรีกลุ่มใหญ่ เข้ามานมัสการถวายของ ถวายน้ำปานะแก้วใหญ่ และถวายปานะมัตถ์ แล้วก็กราบเรียนปรึกษาหลาย ๆ เรื่อง

โยม ๑ : หลวงปู่เจ้าขา ผัวโยมไม่ได้ดังใจเลย ทำมาหากินไม่ร่ำไม่รวยซะที ไม่รู้เมื่อไหร่จะรวยกับเค้าบ้าง

โยม ๒ : ส่วนผัวอีชั้นนะค่ะ ไปมีเมียน้อยไปทำงานที่นั้นก็มีที่นั้น ไปทำงานที่นี่ก็มีที่นี่ อิชั้นจะอกแตกตายอยู่แล้ว

โยม ๓ : ผัวโยมก็กลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ บางวันก็กลับเช้า บางวันก็ไม่กลับก็มี สงสัยจะไปมีอีหนูที่ไหนก็ไม่รู้เจ้าค่ะ

ขณะที่หลวงปู่นั่งฟังโยม สาธยายสรรพคุณของสามีอยู่นั้น

" ไอ้บุญฮอง " สุนัขที่หลวงปู่เลี้ยงไว้ ก็กระโดดขึ้นมาบนเตียงที่หลวงปู่นั่งอยู่ แล้วก็เริ่มเลียกินน้ำ ในแก้วขององค์หลวงปู่จนอิ่ม แล้วก็กระโดดลงจากเตียงไป

โยม ๑ : ว้าย! หลวงปู่เจ้าขา ไม่เห็นหรอหมามันกินน้ำในแก้วหลวงปู่แล้ว หลวงปู่หยิบมาฉันทำไมเจ้าค่ะ สกปรกออก

หลวงปู่ : ไม่สกปรกดอก ปากหมามันสะอาด

โยม : มันสะอาดยังไงเจ้าค่ะ ไปกินอะไรมาก็ไม่รู้

หลวงปู่ : นั้นสิไปกินอะไรมาก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ หมามันไม่เคยนินทาผัวให้หลวงปู่ฟัง

โยม : ..................................

หลวงปู่ : คนทำงานหาเงิน มันต้องได้เงิน คนไปหาเห็ด มันต้องได้เห็ด คนไปจับกบจับเขียด มันต้องได้กบได้เขียด คนที่จับผิดแต่คนอื่น มันก็จะได้แต่ความผิด คนที่คอยจับถูกคนอื่นมันก็จะได้แต่ความถูก

ไปมัวแต่มองความผิดเขา มัวแต่มองส่วนไม่ดีเขา แล้วเคยมองส่วนไม่ดีตัวเองหรือไม่ เคยจับผิดตัวเองรึเปล่า เคยพิจารณาตนเองบ้างหรือเปล่า ว่าที่เขาไปมีเล็กมีน้อยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความผิดเราหรือเปล่า

การที่อยู่ด้วยกันไม่มีความสุข เป็นเพราะเรารึเปล่า หรือมัวแต่ไปจับผิดเขา หาผิดมันก็ได้แต่ความผิด นั้นหล่ะ

ผัวกันเมียกัน มีอะไรก็คุยกันปรึกษากัน แต่อย่าปรึกษาดัง ปรึกษาให้มันได้ยินกันสองคน เดี๋ยวชาวบ้านเขารู้ ปัญหาทุกอย่างมันแก้ได้ อยู่ที่ว่าจะแก้หรือไม่ หรือทิ้งไปเสีย

หัดเป็นคนจับผิดคนอื่นน้อย ๆ จับผิดตัวเองมาก ๆ จับถูกคนอื่นมาก ๆ แล้วจับผิดคนอื่นน้อย ๆ

ในโลกนี้ ไม่มีใครที่ไม่มีข้อเสีย แม้แต่พวกคุณเองยังมีข้อเสีย แก้ไขข้อเสียจากตัวเรานี้ไป ถ้าทุกคนทำหน้าที่ตนเอง คือแก้ไขข้อเสียของตน มันจะมีปัญหาหรือไม่

คนเราถ้าพูดดี จะมีทั้งฟันมีทั้งเหงือก แต่ถ้าพูดไม่เลือก จะเหลือแต่เหงือกฟันไม่มี เข้าใจนะ

โอวาทธรรมคำสอน..
พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร) หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์







"...คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์ อยากหนีทุกข์ ไม่อยากให้มีทุกข์เลย ความจริงทุกข์นี่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้นล่ะ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณา

สุขนั่นซิ มันจะปิดหูปิดตาเรา มันจะทำให้ไม่รู้จักอด ไม่รู้จักทน ความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ชา สุภัทโท





"...ใครจะดีอย่างไร จะชั่วอย่างไร ก็เรื่องของเขา เราดูเรื่องของเราดีกว่า..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก





"...สิ่งใดรู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถ ที่จะดึงดูดใจของเรา ไปทรมาน ให้เกิดทุกข์ได้..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่พุธ ฐานิโย






"...ใบไม้นั้น ถ้าไม่มีลมพัด มันก็นิ่ง สงบระงับอยู่ ถ้ามีลมมาพัด ใบมันก็กวัดแกว่งไปตามลม จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์มาถูก มันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์

ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว ก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์ อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ ก็ปล่อยตามไป วุ่นวายไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นโรคประสาท เพราะไม่รู้เรื่อง ปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่รู้จักตามรักษาจิต

ฉะนั้น ทำจิตของเราให้มีรากฐาน เอาลมหายใจเข้า-ออกเป็นรากฐาน เรียกว่า "อานาปานสติ" ให้พยายามทำทุกวัน ทุกที่ เราจะมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลา..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ชา สุภัทโท





รู้แล้วติดเป็นสมมุติ
รู้แล้วไม่ตืดเป็นวิมุตติ

หลวงปู่ทา จารุธัมโม
วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา






สติตั้งที่ใจ ดูอยู่ที่ใจ มองอยู่ที่ใจ
เห็นอยู่ที่ใจ เพ่งอยู่ที่ใจ กำหนดอยู่ที่ใจ
สติตั้งที่ใจ ดูอยู่ที่ใจ กำหนดอยู่ที่ใจ พิจารณาอยู่ที่ใจ
อิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน
สติอันเดียว ก็ไม่หลาย

หลวงปู่ทา จารุธัมโม
วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา






สังขารไม่เที่ยง หลักเลี่ยงเสียให้พ้น อนัตตาไม่ใช่ตัวตน อย่ากังวลว่าร่างกาย”

“รู้สิ่งใดแล้วติดสิ่งนั้น ก็เป็นสมมติ แต่ถ้ารู้สิ่งใดแล้วไม่ติดสิ่งที่รู้ ก็จะเป็นวิมุตติโดยอัตโนมัติ”

หลวงปู่ทา จารุธัมโม
วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ตอบกระทู้