"ผู้รู้ผู้คิด"
เราอยากจะเห็นใจเห็นตัวเราว่าเป็นอย่างไร เราต้องปฏิบัติธรรม เราต้องสร้างธรรมขึ้นมาสร้างกระจกขึ้นมา พอเราสร้างกระจกขึ้นมาก็เหมือนกับเราเปิดตาทิพย์ของเราเปิดตาในของเรา พอเปิดตาในขึ้นมา ก็จะเห็นตัวเราว่า เรานี้เป็นใจ ใจคืออะไร ใจก็คือผู้รู้ผู้คิดนี้เอง ผู้ที่กำลังคิดอยู่นี้ ผู้ที่กำลังรู้อยู่นี้ ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายนี้ดูไม่เป็นคิดไม่เป็น ร่างกายเป็นเพียงแต่รับข้อมูลแล้วส่งไปให้ผู้รู้ผู้คิดเท่านั้น เช่นตอนนี้ร่างกายกำลังรับเสียงเข้าไปในหูแล้วก็ส่งไปให้ผู้รู้คือใจ ใจนี่แหละเป็นผู้รู้ว่ากำลังฟังอะไรอยู่ ร่างกายเขาไม่รู้ว่าเขาฟังอะไร ร่างกายก็เหมือนกับเครื่องที่กำลังถ่ายทอดเสียงอยู่นี้ ถ่ายทอดเสียงนี้เขาก็ถ่ายทอด เขาก็รับภาพ แล้วเขาก็รับเสียง แล้วเขาก็ส่งไปให้ญาติโยมอยู่ที่บ้านทั่วโลก
ใจของพวกเราก็เหมือนกัน เป็นเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งไม่ได้อยู่ในโลกนี้ อยู่ในโลกทิพย์ อาศัยเครื่องรับทางตาหูจมูกลิ้นกาย ที่รับรูป เสียง กลิ่น รส โผสฐัพพะ แล้วก็ส่งไปให้ใจ คือผู้รู้รับรู้ พอใจรับรู้แล้ว ใจก็คิด แล้วก็สั่งกลับมาที่ร่างกาย ไปทำอะไรกับรูป เสียง กลิ่น รส ที่ใจรับรู้ เช่นเห็นรูปที่ชอบก็สั่งให้ร่างกายไปซื้อ กระเป๋าสวย นี่ก็สั่ง เอ้าไปซื้อกระเป๋า เห็นรองเท้าสวยเห็นรถสวย บ้านสวย เห็นแฟนสวย ก็สั่งให้ร่างกายไปรับไปหามา นี่ใจเป็นผู้สั่ง คือ ผู้คิดนี้เอง.
สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ทุกชีวิต มีเวลาจำกัด อย่างมากไม่เกิดร้อยปี ก็จะต้องละร่างนี้ ละโลกนี้ไป
อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ที่จะทำความดี เพราะถ้าสายเกินไปเมื่อไร ก็ตนเองนั่นแหละ จะต้องได้เสวยผล ของการไม่กระทำกรรมดี
ไม่มีผู้ใดอื่น จะรับผลของ ความดีความชั่ว ที่ตนเองทำไว้ เจ้าตัวเองเท่านั้น จักเป็นผู้รับผล ของความดีความชั่ว ที่ตนทำ"
-:-สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ-:-
"สักวันหนึ่ง ความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เรา ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้า ให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไป จะลำบาก"
-:- ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก -:-
"อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เดี๋ยวความตายจะมาถึง จะเสียใจตามภายหลัง
ความชั่ว อย่าทำเสียเลยดีกว่า ความดี ทำแล้วดี ความชั่ว ทำย่อมเดือดร้อนตามภายหลัง
รีบสร้างความดี รีบขัดเกลา รีบพยายามอบรมบ่มนิสัย ให้มันเกิดมันมี ให้มันรู้มันเห็น มันเป็นมันไป
เราไม่ทำแต่เดี๋ยวนี้ จะไปทำเวลาไหน"
-:- หลวงปู่แสง ญาณวโร- :-
"..พุทโธ ธัมโม สังโฆ นั้น เป็นเพียงวัตถุหรือเครื่องหมายของพระ ไม่ใช่องค์พระจริงๆ
ส่วนพระจริงๆ นั้นคือ สติ ถ้าเรามีสติอยู่เสมอ ก็เท่ากับเราได้สร้างพระ ไว้ในตัวของเรา
พระท่านก็จะช่วยให้เรา มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดเวลา.."
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
“ใจ” เปรียบเหมือนเด็ก “สติ” เปรียบเหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลควบคุมเด็กให้ดี เด็กจึงจะกินอิ่มนอนหลับ แล้วก็จะไม่ร้องไม่อ้อน ต้องให้เด็กมีอาหารดีๆ คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นอารมณ์ มีตุ๊กตาตัวโตๆ ให้เล่น คือ เล่นธาตุทั้ง 4
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ข้อดีของวัตถุมงคล "...พวกท่านทั้งหลาย แสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคล อันเป็นของภายนอกนี้
แต่สำหรับผู้มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่ ยังยินดีในการเกิดตาย ในวัฏฏสงสาร ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ก็ให้อาศัยวัตถุภายนอก เช่นวัตถุมงคลนี้เป็นที่พึ่งไปก่อน อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย
ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัย มีอันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาด ด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี ก็จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกต้องได้เอง..."
โอวาทธรรมคำสอน..องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หมั่นเติมน้ำ ใส่ภาชนะทุกวัน น้ำยังสามารถ เต็มภาชนะได้ บุญกุศล ก็เช่นเดียวกัน หมั่นทำความดี สะสมบุญทุกวัน บุญกุศลก็สามารถ เต็มสมบูรณ์ได้ฉันนั้น โอวาทธรรม หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร วัดถ้ำสหายจันทร์ธรรมนิมิตร
กลมายากิเลส
"...การที่เราเห็นเขาแสดงความรื่นเริง ออกมาในท่าต่างๆ และสถานที่ต่างๆ เช่นในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นต้น นั่นเป็นเพียงเครื่องหลอกกันเล่นไปอย่างนั้นเอง ความจริงต่างอมความทุกข์ไว้ภายในใจแทบระเบิด โดยไม่เลือกชาติชั้นวรรณะใดๆ เลย
ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่ทำให้ซ่อนความจริงไว้นั้น ได้แก่ความอาย กลัวเสียเกียรติ และเป็นคนใหญ่คนโตที่โลกนิยมนี่ จึงนำออกให้โลกและสังคมเห็นแต่อาการที่เห็นว่าเป็นความสุขรื่นเริงเท่านั้น
ตัวผลิตทุกข์แก่มวลสัตว์ มันผลิตอยู่ภายใน ใครไม่อาจรู้เห็นได้ นอกจากปราชญ์ที่เรียนรู้ และปล่อยวางกลมารยาของมันแล้วเท่านั้น จึงทราบได้อย่างชัดเจนว่า ภายในหัวใจของสัตว์โลกคุกรุ่นอยู่ด้วยไฟราคะตัณหา ไฟความโลภ หาความอิ่มเพียงพอไม่เจอ
แม้จะแสดงออกในท่าร่าเริง ท่าฉลาดแหลมคม ท่าของผู้ดีมีความสุขฐานะดีเพียงไร ก็ไม่สามารถปิดความจริงที่มีอยู่ในหัวใจให้มิดได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายรู้เห็นจับได้ เพราะกลมายาของกิเลส กับธรรมะ ละเอียดต่างกันอยู่มาก ท่านผู้เป็นปราชญ์โดยธรรม จึงทราบได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
"...น้อมธรรม เข้ามาสู่ใจ มาดูที่จิตใจ มาดูที่ตน มาฝึกฝนอบรมที่ตน จะเป็นคนฉลาดในการพิจารณาในธรรม ฉลาดในการพัฒนาตัวเอง จึงมาแก้ไขตัวเอง ตรงนี้แหละการประพฤติปฏิบัติของพวกเรา พวกเราจึงจะได้ประโยชน์ในการปฏิบัติ..." โอวาทธรรมคำสอน.. องค์ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
|