พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 19 มี.ค. 2017 5:37 am
การฝึกสมาธิให้ดูธาตุ
การดูธาตุเมื่อรู้จักธาตุทั้ง ๖ ให้ประสานธาตุทั้ง ๖ นี้ ให้รวมเข้ามาเป็นอันเดียวกัน แล้วพยายามเพ่งให้มีพลังให้เหนียวแน่น
จะเกิดพลังรวมขึ้น จนจิตอิ่ม กายอิ่ม เมื่อธาตุสามัคคีแล้วจะมีความอิ่ม ความเต็มของธาตุ
เมื่ออิ่มแล้วเขาจะวางตัวของเขาเอง เป็นหนึ่ง ธาตุก็เป็นหนึ่ง จิตก็เป็นหนึ่ง
แล้วให้กลับเข้ามาดูจิต นึกอยู่ที่จิตนั้น เรียกจิตเพ่งจิต จนเกิดความรู้ขึ้น แล้วปล่อยทั้งความรู้ความเห็นพร้อมกัน ไม่ให้มีอะไรเหลือ
แม้แต่ตัวปัจจุบัน ที่รู้อยู่ก็ให้ปล่อยวาง เท่านั้นก็จะเกิดปัญญาญาณขึ้นมาเอง
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
ติเราเอง
"..ไปหาติคนอื่น บางทีมีปัญหา
ติเรา ติเรา การติเรานั่นล่ะคือการแก้ปัญหา
เป็นการแก้ปัญหาที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถูกต้อง
ต้นไม้ในโลก มีทั้งมีแก่นและไม่มีแก่น
คนในโลกก็เช่นเดียวกัน มีทั้งแข็งแกร่งและอ่อนแอ
มีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ
ธรรมดาธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น
จึงไม่ต้องไปติ ไม่ต้องไปชมอะไรกัน
ถ้าหากว่าจะติจะชม พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการติเราชมเรา
การที่ใจมุ่งตำหนิคนอื่นนั้น ใจไม่สบาย ใจเป็นอกุศล
ใจมุ่งในการตำหนิเรา มุ่งในการแก้ไขเรา
ใจมีลักษณะนี้ ใจเป็นข้อปฏิบัติ
ใจมีอรรถ ใจมีธรรม มีธรรม
จึงให้มุ่งที่จะแก้ไข ปรับปรุงเราเองอยู่เสมอ.."
หลวงพ่อแบน ธนากโร
"...ความคิด นั้นยาว ความนึก นั้นสั้น
ต้องรวมลงเป็นอันเดียวกันขณะทำความสงบ
'นึก' ก็คือ มุ่งไปในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
'คิด' คือ ตรองว่า ถ้าทำเหตุอย่างนั้น ๆ
แล้วจะได้ผลอย่างไร ดี หรือ ไม่ดี..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
"...คนเราทุกคน ใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ ใหญ่แต่ความสำคัญตน
แต่ความรู้ความฉลาดเท่านั้น ที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งกายและใจโดยถูกทาง ตลอดจนให้ผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วยนั่น ไม่ค่อยเจริญเติบโตไปด้วย
และไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตด้วย จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่งโดยไม่เลือกเพศ วัย ชาติ ชั้น วรรณะ อะไรเลย..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่มั่น ภูริทันโต
"..ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด.."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
"...อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก
ถ้าเผลอ เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา
อย่าปล่อยให้มันรู้อามรณ์ดีหรือชั่ว
สุขหรือทุกข์ ไม่คล้อยตามและไม่หักหาญ..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพาน ไม่ควรเป็นครูสั่งสอนท่านผู้อื่นในทางพระนิพพานเลย ต่างว่าจะสั่งสอนเขาจะสั่งสอนว่ากระไรเพราะตัวไม่รู้ เปรียบเหมือนบุคคลไม่เคยเป็นช่างวาดช่างเขียนหรือช่างต่างๆมาก่อนแล้ว และอยากเป็นครูสั่งสอนเขา จะบอกแก่เขาว่ากระไร เพราะตัวเองก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ จะเอาอะไรไปบอกไปสอนเขา จะเอาแต่คำพูดเป็นครูทำตัวอย่างให้เขาเห็นเช่นนั้นไม่ได้ จะให้เขาเล่าเรียนอย่างไร เพราะไม่มีตัวอย่างให้เขาเห็นด้วยตา ให้รู้ด้วยใจ เขาจะทำตามอย่างไรได้ ตัวผู้เป็นครูนั้นแลต้องทำก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นครูสอนเขา ถ้าขืนเป็นครูก็จักพาเขาหลงโลกหลงทาง เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวนักหนาทีเดียว
.
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า : คิริมานนทสูตร
เรียบเรียงโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท )
"เมื่อเจอสุข ก็อย่าลิงโลด
เมื่อเจอทุกข์ ก็อย่าคร่ำครวญ
หากวางใจให้เป็น โชคหรือเคราะห์
สุขหรือทุกข์ ก็สามารถเป็นคุณแก่เราได้"
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-
"ผมไม่ขลัง ไม่มีฤทธิ์ ไม่ได้วิเศษ ผมอยู่กับอาจารย์ฝั้นมา ๒๕ ปี ท่านให้แต่”พุทโธ”ตัวเดียว วัดตัวเองนะ รู้ตัวเองนะ เหรียญท่าน เกศาท่าน อัฐิท่าน ผมก็ไม่มี จนเดี๋ยวนี้ผมก็มีแต่”พุทโธ” ไปไหนอยู่ไหนก็พุทโธ รู้ ตื่น เบิกบาน มีปัญญา พ้นทุกข์ เท่านั้นเองของดีที่อาจารย์ฝั้นให้"
หลวงปู่แปลง สุนทโร
“การดูตัวเองจนเห็นชัด ดีกว่าไปพิจารณาคนอื่น เห็นคนอื่นมีแต่น่าตำหนิทั้งหมด สู้ดูตัวเองไมได้เน๊าะ”
.....หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
".. ผู้มีปัญญา รู้เห็นธรรมะ
ท่านไม่ต้องการอะไร ไม่เอาอะไรอีกแล้ว
เพราะถ้าจะเอาความสุข ความสุขมันก็ดับ
ถ้าจะเอาความทุกข์ ความทุกข์มันก็ดับ
จะเอาวัตถุสมบัติ ข้าวของอะไรต่างๆ
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันก็จะดับเหมือนกัน
แม้นแต่ร่างกาย ที่คนหวงแหนกันนี้
เกิดขึ้นแล้ว ที่สุดแล้ว มันก็ดับ .."
หลวงปู่ชา สุภัทโท
"บางคนเข้าใจว่า การนั่งนี้แหละเป็นสมาธิ แต่ความเป็นจริง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ก็เป็นการปฏิบัติทั้งนั้น ทำสมาธิให้เกิดได้ทุกขณะ สมาธิหมายตรงเข้าไปว่าความตั้งใจมั่น การทำสมาธิไม่ใช่การไปกักขังตัวไว้ บางคนเข้าใจว่า ฉันจะต้องหาความสงบ จะไปนั่งไม่ให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเลย จะไปนั่งเงียบๆ อันนั้นก็คนตายไม่ใช่คนเป็น การทำสมาธิคือทำให้รู้ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีปัญญา สมาธิคือความตั้งใจมั่น มีอารมณ์อันเดียว อารมณ์อันเดียวคืออารมณ์อะไร คืออารมณ์ที่ถูกต้องนั่นแหละ เรียกว่าอารมณ์อันเดียว"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
ภาระกับหน้าที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนต้องมีหน้าที่ แต่ไม่มีใครต้องมีภาระ ความรู้สึกมีภาระมาจากความคิดเศร้าหมองต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ สิ่งท้าทายนักปฏิบัติธรรมจึงอยู่ที่การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ
พระพุทธองค์ไม่สอนให้ปล่อยตัวการกระทำที่ควรเอาใจใส่
พระองค์ให้ปล่อยวางอารมณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าหน้าที่ของเราเป็นภาระต่างหาก สิ่งที่หนักที่สุดที่คนเราชอบแบกเป็นประจำจนเหน็ดเหนื่อยคือความยึดมั่นถือมั่นว่า เรา ว่า ของเรา
ภาระปกป้องภาพลักษณ์ของเรา ศักดิ์ศรีของเรา ผลประโยชน์ส่วนตัวของเรา หนักจริงๆ
การทำงานเพื่องานงาม การทำหน้าที่ด้วยความรัก ความซื่อสัตย์
ความอดทน และด้วยสติ ด้วยปัญญา
อย่างนี้อาจจะลำบากอยู่บ้าง แต่ภายในรู้สึกเบาสบายที่สุด
พระอาจารย์ชยสาโร
สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จ.นครราชสีมา
ในบางครั้ง นักปฏิบัติทำสมาธิให้ได้ถึงอัปปนาสมาธ ิภาวนาพุทโธทีไร จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิทุกที แล้วไปนิ่งอยู่ในอัปปนาสมาธิ เป็นเวลานาน ๆ หลาย ๆ ชั่วโมง แต่ภายหลังเรามาภาวนาพุทโธ ๆ เพียง ๒ - ๓ คำ จิตก็วูบลงไปนิดหนึ่ง แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา ฟุ้ง ๆ ขึ้นมายังกับน้ำพุ ถ้าจิตของทานผู้ใดเป็นไปอย่างนี้ กำลังจะก้าวขึ้นสู่ลักขณูปนิชฌาน จิตสงบแล้วมีความคิดอ่านเกิดขึ้น
.
ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจจิต ปล่อยให้จิตคิดไป ตามธรรมชาติของจิต และมีกำหนดตามรู้อารมณ์จิตไป บางทีเราอาจท้าทายว่า เธอจะคิดไปถึงไหน ฉันจะตามดูเธอ แล้วก็ปล่อยให้คิดไปตามธรรมชาติ ความคิด ความเข้าใจ อันนี้อาจจะขัดกับความรู้สึกของท่านผู้ฟัง เพราะส่วนใหญ่เราจะได้รับคำแนะนำตักเตือนว่า
.
เมื่อภาวนาพุทโธอยู่ ถ้าจิตนิ่งอยู่กับพุทโธ ก็ปล่อยให้อยู่ไป แต่ถ้าจิตทิ้งพุทโธ ไปคิดอย่างอื่น พอรู้ตัวให้ดึงกลับมาหาพุทโธอีก นี่เราจะได้ยินครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ แต่วันนี้ท่านมาได้ยินว่า เมื่อจิตของท่านอยู่กับพุทโธ ปล่อยให้มันอยู่ไป แต่จิตทิ้งพุทโธไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้มันคิดไป เดี๋ยวท่านก็จะคิดว่าเอาอะไรมาพูด
.
เท่าที่นำเรื่องนี้มาพูดซ้ำอีกทีหนึ่ง ก็เพราะเหตุว่ายังมีหลาย ๆ ท่าน ที่ทำสมาธิภาวนาจิต สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ แต่เมื่อภายหลัง พอบริกรรมภาวนา หรือกำหนดจิตเพียงนิดหน่อย จิตจะสงบวูบลงเป็นสมาธิ แล้วความคิดจะฟุ้ง ๆ ๆ ขึ้นมา ไปพยายามห้ามไม่ให้มันคิด ไปดึงมันมาหาพุทโธอีก มันก็ไม่ยอมอยู่ หนัก ๆ เข้านอกจากจะไม่ยอมอยู่แล้ว ยังทำให้รู้สึกเกิดความตึงเครียด ทำให้ปวดศีรษะคล้าย ๆ กับจะเป็นโรคประสาท
.
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราไปขัดขวางธรรมชาติของสมาธิ เพราะได้กล่าวแล้วว่าสมาธิมีอยู่ ๒ อย่าง อารัมมณูปนิชฌาน จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิรู้ที่จิตเพียงอย่างเดียว ความรู้อื่นไม่ได้เกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่ง ลักขณูปนิชฌาน เมื่อจิตสงบแล้ว ความรู้ ความคิดอ่าน เกิดขึ้นอย่างกับน้ำพุ ทีนี้ถ้าหากว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่เข้าใจผิด ปล่อยให้มันคิดไปตามธรรมชาติของมัน แต่เรามีสติกำหนดรู้ตามความคิดนั้นไป จิตคิดไปถึงไหน คิดเรื่องอะไร คิดเรื่องบุญ คิดเรื่องบาป คิดเรื่องกุศล เรื่องอกุศลปล่อยให้คิดไป
.
บางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าเกิดไปคิดถึงเรื่องบาป ทำบาปทำกรรม กลัวว่าจะเกิดเป็นบาปเป็นกรรมขึ้น ความจริง สิ่งที่สำเร็จ เป็นมโนกรรมนั้น เราต้องมีเจตนา คือความตั้งใจจะคิด แต่ถ้าอยู่ ๆแล้วจิตไปคิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ตั้งใจ มันไม่สำเร็จเป็นมโนกรรม ดังนั้น เมื่อจิตของท่านคิดอะไรขึ้นมา ปล่อยให้คิดไป เอาความคิดเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ
.
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
" ถ้าขยันเรียนหนังสือ เหมือนกับเล่นโทรศัพท์ ลูกๆก็จะเก่งได้เหมือนกันทุกๆคน "
ธรรมโอวาท
พระอาจารย์บุญทวี สีตจิตโต
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
(ศิษย์ในองค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.