Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

พูดไม่ดีก็เป็นบาป

พุธ 12 เม.ย. 2017 7:10 am

"ก่อนจะใช้วาจาทิ่มแทงใคร
พึงตระหนักว่า คำต่อว่าด่าทอนั้น
มักประจานตัวตนของผู้ด่าทอ
มากกว่าผู้ถูกด่า"
...
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล





"พูดบ่ดี ก็เป็นบาป
ปากบ่ดี ก็เป็นกรรม
ทำบ่ดี ก็เป็นพิษ
คิดบ่ดี ก็เป็นโทษ"

-:-หลวงปู่สาย เขมธัมโม-:-





แมงไม้ไต่ขอบกระโถน

กระทาชายวัยสนธยาคนหนึ่ง โต้ตอบธรรมวิสัชนากับหลวงพ่อชา ว่า

“เป็นการผิดไหม ที่หัวหน้าครอบครัวทิ้งลูกเมียไปบวชลำพัง? ”(ใจคนถาม คล้ายตั้งธงไว้แล้วว่าผิดแน่ๆ)

อาจารย์ชา ถาม … ผู้ออกบวชคนนั้นประสงค์สิ่งใด

ผู้ถามตอบ … ประสงค์ออกบวช ปฏิบัติธรรมคนเดียว ทั้งๆ ที่ลูกเมียยังมืดบอด ภาระก็ยังไม่จบสิ้น (สำทับเหตุผลตามธงที่ตนตั้งไว้อีก)

หลวงพ่อชา ตอบชัดเจน ... ถ้าความประสงค์ของท่านบริสุทธิ์ (บวชด้วยศรัทธา ทำนิพพานให้แจ้ง) และไม่ได้ทำไปด้วยความรังเกียจลูกเมีย ก็ไม่ถือว่าจะผิดที่ตรงไหน!

ภาระทางโลกมันจะไปจบที่ตรงไหนเล่า? เจ้าชายสิทธัตถะ (ลูกกษัตริย์ ร่ำรวยพร้อม) ออกบวช ก็ไม่มีใครเห็นด้วย ทั้งพ่อแม่ ทั้งเมีย แต่ท่านไปเพื่อมหากุศล (ระหว่างที่เทศน์อยู่นั้น ผมเดาว่าท่านคงเหลือบไปเห็นแมงไม้ไต่ปากกระโถนอยู่)

“ไอ้ภาระทางโลกน่ะ มันจะไปจบที่ตรงไหน มันก็เหมือนปากกระโถนนี่แหละ มันไม่จบสิ้นดอก มันดูเหมือนไม่ไกล แต่เป็นวงกลม วนไปวนมา ไม่จบ!

คำเทศน์ หลวงพ่อชา สุภัทโท บทนี้คงจะโดนใจอุบาสกหลายท่านด้วยกัน ไม่ว่าเราจะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ไม่มีหรอก คนทั้งหมด ๑๐๐% จะสนับสนุน เป็นธรรมดาต้องมีทั้งสรรเสริญและต่อว่านินทา (โดยมากจะเป็นประการหลังด้วยซ้ำ) ผู้มีสัมมาทิฐิ ทั่วไปไม่ควรใส่ใจ ผู้ใหญ่บางคน แม้จะมีสัมมาทิฐิกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังถูกกระแสโลกหลอกลวงตบตาอยู่ ให้ความเห็นแทนนาคว่า เด็กคนนี้เพิ่งจะเรียนจบหมอ พ่อแม่แกลงทุนลงแรงไปตั้งหลายตังค์ ยังไม่ทันจะได้ทดแทนคุณ หาเงินคืน เลี้ยงดูพ่อแม่ น้องนุ่ง ก็ชิงไปบวชซะแล้ว ดูเหมือนจะบวชยาวอีกต่างหาก

ซีนนี้เป็นการวิวาทะธรรมกับหลวงพ่อชาอยู่นานพอสมควร ... ด้วยไหวพริบของหลวงพ่อ ท่านตอบไปว่า ...

"โยมจะให้คุณหมอเขารอถึงกี่ปีล่ะ ใครจะรับประกันได้ไหมว่า รอแล้ว เขายังจะได้บวชอยู่ หรือเขาต้องไม่ตายไปก่อน?"

เรื่องแบบนี้อยู่ที่ปัญญาใครจะมองเห็น สมมุติว่า อาตมาเอาก้อนดินหนัก ๑ กิโล กับทองคำแท้หนัก ๑ กิโล มาให้โยมเลือก โยมจะเอาอันไหน?

ผมก็ต้องเอาทองคำสิครับ (โยมคนนั้นตอบอย่างไม่ลังเล)

นั่นไง ... ตอนนี้ผู้จะบวชมองสิ่งนั้นคือทองคำ แต่โยมกลับมองเป็นก้อนดิน มันคุยกันไปก็ไม่จบสิ้น


..........
หลวงพ่อชา สุภัทโท





เลิกจองเวร...

เมื่อหลวงพ่อสังวาลย์ยังปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าช้าวัดบ้านทึง ท่านได้พูดคุยกับโยมผู้หญิงรุ่นแม่ ซึ่งเป็นคนจับปลาในย่านนั้นว่า...

"โยมเลิกดีกว่า หากุ้งหาปลา ลูก ๆ ก็โตหมดแล้ว"

"เลิกก็ดีเหมือนกัน อิฉันก็เบื่อเต็มที" แกรับและสารภาพ

"อาตมาขอบิณฑบาต พวกแห พวกยอทั้งหมด"

"ได้จ้ะ อิฉันจะขนไปให้ท่านเช็ดเท้า"

ท่านเล่าว่า โยมผู้นี้หาปลามาตั้งแต่เด็ก ไม่มีอาชีพอื่น แกบุกไปทั่ว ไม่ว่าท่าโบสถ์ โพธิ์พระยา ผักไห่ฯ โยมมารับศีล ๕ แล้วท่านก็บอกว่า

"บ้านโยมมีไม้ไผ่เยอะ สานพัด สานกระบุงขายจะรวย"

"ค่ะ อิฉันจะลองทำดู"

คุณโยมตั้งตัวได้ในที่สุด เพราะพัด กระบุง ตะกร้า ที่แม่ลูกช่วยกันสาน ไม่พอส่งขาย... ท่านว่า... ก่อนจะพูดให้โยมเลิกนั้น มันมีสิ่งที่ปรากฎขึ้นในกรรมฐานท่านมาก่อน

เมื่อนักล่าประจำลุ่มน้ำมาถือศีลได้ ชื่อเป็นที่เลื่องลือไปไกล

มีพระอาวุโส ท่านหนึ่งมาหาแล้วกล่าวว่า...

พระอาวุโส... "ท่านสังวาลย์เก่งจริง เอาคนหาปลารักษาศีลได้"

หลวงพ่อ... "โยมเขาขาดคนชี้นำเท่านั้น... เขาขาดครู"

พระอาวุโส... "ท่านนี่มีความรู้เหลือหลาย"

หลวงพ่อ... "รู้เขานั้นไม่ใช่ดีเสมอไป รู้เรานั่นแหละเป็นอุดมมงคล"

หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก






"...ความโศกเศร้าเสียใจ ย่อมนำความทุกข์มาให้หมู่มนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

จริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ความโศกเศร้าย่อมเกิดจากของที่เรารัก ความทุกข์ย่อมเกิดจากของที่เรารัก..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ชา สุภทฺโท





วิธีทดแทนคุณบุพการี

"...ลูกเอ๋ย! ยามที่พ่อแม่ของเจ้ามีอายุมากขึ้น ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ความแข็งแรงของร่างกายก็ลดลง ใจน้อย โกรธง่าย ความจำก็เสื่อม ขี้หลงขี้ลืม จิตใจก็หมดความสุขสดชื่น

ถึงแม้พวกเจ้าจะคอยดูแลเอาใจใส่ ดูแลใกล้ชิดสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจช่วยให้พ่อแม่ของเจ้า มีความสุขได้เต็มที่ เพราะพวกเจ้าทุกคน ต่างก็มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เจ้าช่วยให้ท่านได้รับความสุข เพียงการให้กินอยู่หลับนอนอันเป็นความสุขทางกายเท่านั้น แต่จิตใจของท่าน หาได้ร่าเริงสดชื่นผ่องใสไม่

เจ้าจงจำไว้ว่า การให้ความสุขแก่พ่อแม่อย่างแท้จริงก็คือ การให้ธรรมะ ด้วยการสอนหลักธรรมะอย่างง่ายๆ ให้กับพ่อแม่ของเจ้า พาท่านไปทำบุญทำทาน สอนท่านให้รู้จักการปฏิบัติบูชา สอนให้ท่านรู้จักสวดมนต์ ภาวนา แผ่เมตตา ธรรมะจะอยู่ในจิตใจของพ่อแม่เจ้า ทุกภพทุกชาติ ถือว่าเป็นการทดแทนพระคุณที่สูงสุด เจ้าจงจำไว้ นะลูกเอ๋ย..."

อมตะธรรมคำสอน..
องค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ตอบกระทู้