Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พูด

ศุกร์ 14 เม.ย. 2017 9:39 am

"สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พูด"

ถาม : พระอาจารย์ครับผมมีปัญหากับการพูดน้อย ผมอยากทราบว่าการพูดมากพูดน้อยมันดีอย่างไรครับ

พระอาจารย์ : พูดน้อยน่ะดี เรื่องมันจะได้น้อย พูดมากเดี๋ยวเรื่องมันก็มาก การพูดน้อยเรียกว่าไม่มีปัญหา นอกจากคนที่ต้องพูดแล้วไม่พูดนี่ ถึงจะมีปัญหา เช่นเป็นครูเป็นอาจารย์นี่ ต้องพูดก็ต้องพูด แต่พูดด้วยเหตุด้วยผล พูดเพื่อให้ความรู้ การพูดน้อยพูดมากไม่สำคัญ สำคัญว่าพูดอะไร สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พูดก็มีอยู่สี่ข้อด้วยกัน พูดปดนี้ไม่ให้พูด สองพูดเพ้อเจ้อ พูดเรื่องไร้สาระพูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียดหมายถึงพูดยุยงให้คนอื่นเขาโกรธกันเกลียดกัน แตกแยกกันเรียกว่าพูดส่อเสียด ก็พูดคำหยาบ นี่ไอ้พวกนี้อย่าพูดเลย ส่วนที่พูดมากนี้พูดอย่างพูดธรรมนี้ พูดวันละตั้ง 2 ชั่วโมงนี่ พูดได้ พูดแล้วเกิดประโยชน์แก่คนฟัง หรือเกิดประโยชน์กับคนพูดด้วย คนพูดก็ได้ความรู้จากการพูด เพราะเวลาพูดมันต้องคิดอยู่เรื่อยหาอะไรมาประกอบกับการพูดอย่างนี้ มันก็ได้ประโยชน์เพราะมันทำให้พูดเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งพูด ยิ่งพูดเก่ง สมัยเริ่มพูดใหม่ๆ นี้พูดไม่ออก ไม่รู้จะเอาอะไรมาพูด แต่ตอนหลังจับประเด็นได้ว่าอย่าไปเอาอะไรมาพูด พูดไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมีเรื่องให้เราคิดพูดประกอบไปเรื่อยๆ เอง แล้วมันจะเป็นธรรมชาติกว่า กว่าที่เราจะคิดเตรียมตัวว่าเราจะพูดอะไร แล้วก็เอายัดพูดตอนนั้น พูดไปแล้วมันมีเหตุผลอะไรก็หาตัวอย่างมาสนับสนุนเหตุผลนั้นไป แล้วมันฟังแล้วคนฟังก็สบาย เข้าใจง่ายกว่า กว่าที่เราไปตั้งเป้าว่าวันนี้เราจะพูดเรื่องนี้ จะเอาตัวอย่างนั้นตัวอย่างนี้มาใส่ เวลาไปพูดบางทีเรื่องมันไม่ไปตรงนั้นจะทำยังไง ใช่มั้ย ไปดึงมันเข้ามามันก็เลยเสีย เสียความเป็นธรรมชาติของการพูดไป

ฉะนั้นเรื่องพูดมากพูดน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าพูดอะไรมากกว่า เพราะเรื่องที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้พูดนี้ อย่าพูดเลยดีที่สุด อย่าพูดปด อย่าพูดเพ้อเจ้อ อย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดคำหยาบ เรื่องที่จะให้พูดมากๆ ก็คือเรื่องธรรมะ แต่ต้องมีกาลเทศะ บางคนฟุ้งเรื่องธรรมะเจอใครก็จะคุยเรื่องธรรมะอย่างเดียว คนฟังเขาจะฟังไม่ฟังก็ไม่สนใจ อย่างนี้ก็ไม่ได้อีก การจะพูดอะไรต้องดูว่าคนฟังเขาสนใจหรือเปล่า อย่างนี้ ถ้าญาติโยมมานั่งคุยกัน เราก็หยุดพูดล่ะ แต่นี่ญาติโยมยังไม่คุยกัน ก็แสดงว่ายังอยากฟังอยู่ เราก็คุยต่อ พูดได้ แต่ถ้าญาติโยมเริ่มคุยกันเริ่มหันหน้าไปทางโน้นหันหน้าไปทางนี้ แสดงว่าไม่อยากจะฟังแล้ว เราก็หยุดพูด.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"ความอยากเป็นทุกข์
อยากมากทุกข์มาก
อยากน้อยทุกข์น้อย
ไม่อยากไม่ทุกข์
ผู้มีสุขคือ ผู้หมดความอยาก"

-:-หลวงปู่สาย เขมธัมโม-:-




พุทธานุสสติ ทรงอารมณ์ได้ถึงฌาน ๔

แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็ จับภาพพระพุทธรูปกำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า พุทโธ ก็นึกภาพขององค์สมเด็จพระบรมครู
จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ให้ปรากฏอยู่ในใจ
ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้
ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอก ให้เห็นอยู่ในอก หรือเห็นภายนอกก็ได้ไ่ม่จำกัด
ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิมอย่างนี้เรียกว่า
อุคคหสมาธิ หรือ อุคคหนิมิต

ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไป เปลี่ยนแปลงไปชักจะใหญ่ขึ้น
จะสูงขึ้น จะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะ เริ่มเปลี่ยนแปลง ไปทีละน้อยๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย
จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด
นึกเห็นนะไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส
อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น อุปจารสมาธิตอนกลาง

ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก
แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับ
ให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้ สูงก็ได้ ต่ำก็ได้
ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ ตามใจนึก
นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น
มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ
อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์
ท่านกล่าวว่าเป็น ปฐมฌาน

การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น
เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไร
เห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็น กสิณ ด้วย
เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย ถ้าการเห็นภาพแบบนั้น
ปรากฏว่า คำภาวนาว่า พุทโธ หายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม
อันนี้เป็น ฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิต
มันเหมือนกัน ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น
มีความแจ่มใสขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด
จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย
ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็น ฌานที่ ๓

การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ
สว่างไสว คล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด
หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่
ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์
ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไร
ก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก
ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็น ฌานที่ ๔

โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
ตอบกระทู้