"...คนทั้งหลายเขาก็อยู่กับทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักทุกข์ จึงพ้นจากทุกข์ไม่ได้
การกำหนดทุกข์ ก็ต้องเอาให้ละเอียด ต้องเอาถึงขนาดแค่ลืมตาปุ๊บ รูปมากระทบก็รู้ว่าทุกข์แล้ว
ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมเกิดความสลดสังเวชในภพชาติ ไม่ยินดีในการเกิด มีจิตมุ่งตรงต่อนิพพานอย่างเดียว..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
วันสงกรานต์
อาการที่ก้าวเข้าไป เรียกว่า สงกรานต์ เมื่อใช้คำนี้ทางพระพุทธศาสนาโดยตรงย่อมหมายความว่าก้าวเข้าสู่พระพุทธศาสนา หรือก้าวเข้าสู่ธรรมปฏิบัติที่สูง ๆ ขึ้นไปโดยลำดับ
ส่วนสงกรานต์ ตามประเพณีบ้านเมืองหมายถึงเวลาที่พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีเมษ เป็นนักขัตฤกษ์เนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่าของไทย กำหนดตามสุริยคติ ตกวันที่ ๑๓ (วันมหาสงกรานต์) ๑๔ (วันเนา) และ ๑๕ (วันเถลิงศก) เมษายน
ตามปรกติ กำหนดคิดตามคัมภีร์สุริยยาตรของอินเดียโบราณ (ตำราปัจจุบันกล่าวว่าวันสงกรานต์ดังกล่าวเคลื่อนจากวันที่พระอาทิตย์ยกจริงถึง ๒๑ วันล่วงแล้ว) แต่พระอาทิตย์จะยกจริงเมื่อไรไม่ใช่ธุระของประเพณีและในเมืองพระพุทธศาสนานั้นเมื่อฉลองสงกรานต์ตามประเพณี ก็นึกถึงการทำบุญกุศลร่วมกันไปกับการเล่นสนุกสนานด้วย
ดังจะพึงเห็นได้ว่า ได้มีการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนก ปล่อยปลา บังสุกุลอัฐิญาติผู้ใหญ่ สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้ใหญ่หรือที่ภาคพายัพเรียกว่าดำหัวและเรียกวันที่ ๑๓ ว่า วันสังขารล่อง วันที่ ๑๔ ว่าวันเนา วันที่ ๑๕ ว่าวันพระยาวัน
วันสังขารล่อง มีนิยายประกอบว่า ผีสังขารปีเก่าล่องน้ำไป พิธีดำหัวทำในวันพระยาวัน เครื่องดำหัว เช่น ดอกไม้ธูปเทียนหมากพลู ผ้าใหม่ น้ำส้มป่อย (อย่างสบู่) น้ำอบ ผู้ใหญ่รับเครื่องดำหัว เอาน้ำส้มป่อยน้ำอบพรมศีรษะเป็นกิริยาว่าได้นำน้ำสระหัวแล้วอำนวยอวยพร
อำนาจสรณะนี้เองดึงใจคนให้นำประเพณีเข้าหาพระพุทธศาสนา นำให้ทำบุญทั่วถึงกันหมด ทั้งแก่คนแก่ผี ทั้งแก่พระแก่ชาวบ้าน ทั้งแก่ญาติแก่มิตร เด็กผู้ใหญ่ตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉาน พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นสรณะอันล้ำเลิศที่ช่วยประคับประคอง นำเข้าหาความดีความสุขอยู่ทุกโอกาส เมื่อคิด จึงจะมองเห็นพระคุณ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หนังสือ: พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเลิศล้ำ
|