Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ

พุธ 26 เม.ย. 2017 5:31 am

"ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง
.
ศาสนาทางมิจฉาทิษฐิ ก็นับวันจะแสดงปฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย
.
ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรมดังไฟที่กำลังใหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด
.
ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆและแยบคายด้วยจะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก
.
พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ"
.
โอวาทครั้งสุดท้ายของอาจารย์มั่น
(บันทึกโดยพระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต)






"อยู่กับพุทโธ"

ถาม : ความปวดที่เกิดขึ้นจากการนั่งสมาธินี้ เราควรเอาจิตจดจ่ออยู่กับความปวดหรืออยู่กับพุทโธคะ

พระอาจารย์ : อยู่กับพุทโธดีกว่า เพราะถ้าเราไปอยู่กับความปวด มันจะเกิดความอยากให้หายปวด ฉะนั้นเราอย่าไปคิดถึงมันจะดีกว่า แล้วมันจะทำให้เราลืมความอยากให้มันหายปวดได้.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"ทำดี แต่ถูกนินทาว่าชั่ว
ก็ไม่ได้ทำให้ความดี
กลับมาเป็นความชั่วได้
เมื่อทำดี ก็คงเป็นทำดีอยู่นั่นเอง"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ







"ไม่ใช่ว่านักปฏิบัติธรรม
นั่งสมาธิเพื่อ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
แต่เพื่อสามารถคิด เฉพาะเรื่องที่ควรคิด
ในเวลาที่สมควรคิด"

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ







ในเรื่องของกรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

"ถ้าเราไม่ทำเขา เขาย่อมไม่ทำกับเรา"

เพราะเราเคยได้เบียดเบียนเขาไว้ก่อน
เราจึงต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น
จากเขาบ้าง

ท่านพ่อลี ธัมมธโร






"คนเรา มัวแต่พากันห่วงบ้าน
ห่วงเรือน ห่วงข้าวของ ทรัพยสมบัติ
จะปลีกตัวมาวัด ทำความดี ก็มาไม่ได้

แต่บ้านเรือน ข้าวของ
และทรัพย์สมบัติ เหล่านี้
มันเคยห่วงใยเราบ้างหรือเปล่า"

หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ






"ให้เราคิดถึงครูบาอาจารย์
เป็นผู้มีบุญอยู่บนหัวใจ
หรืออยู่บนกระหม่อมจอมขวัญ
ของเราเสมอ อย่าได้ลืม
อย่าได้ลบหลู่ดูหมิ่น
เราจะเป็นผู้เจริญในอนาคต"

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน





ก่อนไม้จะเป็นถ่าน เขาใช้ไฟเผา ก่อนความดีจะเกิดแก่เรา ต้องใช้ธรรมเผากิเลส โลภ โกรธ หลง หายหนี ความงามความดีก็ก้าวเข้ามา
หลวงปู่สาย เขมธมฺโม






"...จิตเจริญ ผิดกับสิ่งทั้งหลายเจริญ โลกเจริญ ด้านวัตถุเจริญ การค้าเจริญ อะไรๆเจริญ ความเจริญนั้นก็จริง แต่คนก็ทุกข์อยู่อย่างดั้งเดิมนั่นแหล่ะ

แต่เพียงจิตเจริญนี้ เจริญยิ่งขึ้นเท่าไร ยิ่งเห็นความสุขชัดเจนภายในตัวของเรา ผิดกับสิ่งภายนอกเจริญเป็นไหนๆ..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน






"...ทุกคนหนีโลกธรรมไม่พ้น จึงอย่าหนีมัน เพราะมันเป็นของธรรมดา คนส่วนใหญ่คิดว่าตนฉลาด ดังนั้น เมื่อถูกด่าว่าหรือติ หรือนินทา จะมีอารมณ์ไม่พอใจ โกรธ เก็บเอามาคิดปรุงแต่ง เกิดอาฆาต พยาบาท จองเวร

เพราะอารมณ์โง่ โมหะหรือหลง หรือมิจฉาทิฏฐิ จึงทำร้ายตนเอง เผาตนเอง เบียดเบียนตนเอง ขาดเมตตาต่อตนเอง เหมือนกินยาพิษ เพราะใจเป็นโมหะ (หลง,ไม่รู้)

แต่ใครเชื่อพระองค์ก็เป็นสุข เพราะถือเป็นของธรรมดา ให้ตั้งไว้ในอารมณ์ช่างมัน หรือวางเฉย หรือสักแต่ว่าหรืออุเบกขา จนถึงสังขารุเบกขาญาณในที่สุด..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย







"...การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อน ถึงการทรมาณม้าเล่า เขาทูลว่าม้ามี ๔ ชนิด คือ

๑. ทรมานง่าย
๒. ทรมานอย่างกลาง
๓. ทรมานยากแท้
๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย

พระองค์จึงตรัสว่าเราก็เหมือนกัน

๑. ผู้ทรมาณง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่ายให้กินอาหารเพียงพอ เพื่อบำรุงร่างกาย

๒. ผู้ทรมานอย่างกลาง คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลง ก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก

๓. ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน

๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้ เป็น ปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือไม่ทรงรับสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น..."

โอวาทธรรมคำสอน.."มุตโตทัย"
องค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒)
ตอบกระทู้